คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อ. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความว่า บริษัทโจทก์จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดส่งใบรับรองภาษาอังกฤษของหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีเจ้าหน้าที่ลงนามรับรอง พร้อมกับคำแปล นอกจากนี้ใบมอบอำนาจซึ่งมีคำแปลประกอบก็ปรากฏว่า ท. ประธานกรรมการบริษัทโจทก์ เป็นผู้มอบอำนาจและแต่งตั้งให้ อ. ฟ้องคดีนี้ มี ม.ผู้จัดการหอการค้ารับรองลายเซ็นชื่อ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นรับรองลายเซ็นของผู้จัดการหอการค้าฯ และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียวรับรองลายเซ็นชื่อของเจ้าพนักงานกระทรวงการต่างประเทศอีกชั้นหนึ่ง ดังนี้ เมื่อจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่าเอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารแท้จริง และมิได้เถียงว่าคำแปลไม่ถูกต้อง จึงเป็นการเพียงพอที่จะให้ฟังได้ว่าบริษัทโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมอบอำนาจให้ อ. ฟ้องคดีนี้แทนได้ และคดีหาจำเป็นต้องมีพยานบุคคลมาสืบการแปลเอกสารนั้นอีกไม่
เครื่องหมายการค้าของโจทก์พิมพ์เป็นอักษรโรมันไว้ที่หีบห่อ (กล่อง)สำหรับบรรจุสินค้าเครื่องกันสะเทือนว่า KAYABA และ KYB ส่วนของจำเลยใช้คำว่า KAYADA และ KYD ซึ่งต่างกับของโจทก์เพียงอักษร D ส่วนของโจทก์เป็นอักษร B เท่านั้น นอกนั้นเหมือนกันหมดทุกตัวอักษร ทั้งสำเนียงการอ่านก็คล้ายกัน ลักษณะหีบห่อ(กล่อง) สีสรร ตลอดจนการวางรูปของตัวอักษรก็เหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์ที่สุด และยังใช้กับสินค้าเครื่องกันสะเทือนเหมือนกัน ดังนี้นับได้ว่าอาจทำให้สาธารณชนหลงผิดว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเป็นการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดีกว่าจำเลย และชอบที่จะฟ้องร้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยว่าฝ่ายใดสมควรที่จะได้รับการจดทะเบียนดีกว่ากันนั้นได้
ในกรณีดังกล่าว แม้โจทก์จะมีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดีกว่าจำเลย และจำเลยไม่มีสิทธิจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย เพราะเป็นการเลียนแบบล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และนับแต่ได้ใช้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาจนถึงวันฟ้องก็เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปีแล้ว ดังนี้ โจทก์จึงนำคดีสู่ศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 29 วรรคแรกและกรณีไม่ต้องด้วยวรรคสองเพราะไม่มีประเด็นเรื่องการลวงขาย โจทก์จึงหมดสิทธิเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าจากจำเลย และตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้บริบูรณ์ตามกฎหมายเสียก่อนโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้จำเลยผลิตสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลย และไม่มีสิทธิที่จะขอให้ศาลบังคับให้จำเลยเรียกเก็บคืนซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของจำเลยจากตลาดการค้าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องอุปกรณ์ยานพาหนะทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย ในประเทศไทยโจทก์ตั้งให้นายอัลเบิร์ต ไลแมน เป็นตัวแทนในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์เป็นเจ้าของผู้คิดประดิษฐ์ คำว่าKAYABA และ KYB ใช้กับผลิตภัณฑ์เครื่องอุปกรณ์ยานพาหนะโดยเฉพาะเครื่องกันสะเทือน ได้ส่งไปจำหน่ายทั่วโลก โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ สำหรับประเทศไทยผลิตภัณฑ์ของโจทก์รวมทั้งเครื่องกันสะเทือนที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้นำเข้ามาจำหน่ายแพร่หลายเป็นที่นิยมเชื่อถือในคุณภาพมากว่า 30 ปี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2513 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับผลิตภัณฑ์ของโจทก์ในจำพวก 13 ทั้งจำพวก ซึ่งรวมถึงเครื่องกันสะเทือน ต่อมานายทะเบียนแจ้งเหตุขัดข้องในการรับจดทะเบียนว่า เครื่องหมายการค้าเหมือนกับคำขอจดทะเบียนของจำเลยซึ่งยื่นขอจดไว้คำว่า “KYD” และ”KAYADA” ซึ่งต่างก็กำลังดำเนินการจดทะเบียนอยู่ จึงดำเนินการต่อไปไม่ได้จนกว่าจะได้ตกลงกันหรือนำคดีขึ้นสู่ศาลตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 17 โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนของจำเลย จำเลยไม่ยอม โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า “KAYABA” และ “KYB” ดีกว่าจำเลยเพราะเป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์เพื่อใช้กับสินค้าของโจทก์ก่อนจำเลยและมีการโฆษณาให้แพร่หลายเป็นที่เชื่อถือและยอมรับถึงคุณภาพในหมู่ผู้ซื้อหาทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 30 ปี จำเลยมีเจตนาไม่สุจริตนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปแก้พยางค์ท้ายจาก “BA” เป็น “DA” และใช้คำย่อ “KYD” แล้วจงใจนำไปยื่นขอจดทะเบียนโดยเจตนาจะใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยเพื่อใช้กับสินค้าเครื่องกันสะเทือน และเจตนาให้มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพราะเครื่องหมายการค้าทั้งสองมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันสำเนียงการเรียกขานและการวางรูป ทั้งใช้ในสินค้าจำพวกเดียวกัน นับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน ก่อให้เกิดการหลงผิดในแหล่งกำเนิด เป็นการขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นขอจดไว้ การที่จำเลยไม่ตกลงกับโจทก์หรือเพิกถอนคำขอจดทะเบียนของจำเลย เป็นเหตุให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่อาจจดทะเบียนตามคำขอของโจทก์ได้ ทำให้โจทก์เสียหาย ที่จำเลยจงใจใช้เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 10,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่าจำเลยสั่งให้นายทะเบียนระงับการจดทะเบียนระงับการจดทะเบียนตามคำขอของจำเลย แล้วดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ หรือให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียน หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยมิให้เกี่ยวข้องหรือขัดขวางการจดทะเบียนตามคำขอของโจทก์ ห้ามมิให้ผลิตสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า “KAYADA” และ “KYD” ออกจำหน่าย ให้ริบหรือให้จำเลยเรียกเก็บบรรดาสินค้าซึ่งมีเครื่องหมายดังกล่าวของจำเลยให้หมดสิ้นไปจากตลาดการค้า กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า บริษัทโจทก์จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องจะมีจริงหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง โจทก์จะเป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์เครื่องหมายการค้า KAYABA และอักษรย่อ KYB หรือไม่ ไม่รับรอง และเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นคำขอมีลักษณะแตกต่างกัน ทั้งการวางรูปและออกเสียง จึงไม่เป็นการทำให้ประชาชนหลงเข้าใจผิดเครื่องหมายการค้าของจำเลยประดิษฐ์ขึ้นเองเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย จำเลยใช้สิทธิสุจริต โจทก์ไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยและจะเรียกค่าเสียหายหรือห้ามจำเลยไม่ได้

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าโจทก์ในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่าจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 10,000 บาทแก่โจทก์ให้นายทะเบียนระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลย ห้ามมิให้จำเลยผลิตสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า KAYADAKYD ซึ่งเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำหน่าย ให้จำเลยเก็บบรรดาสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า KAYADA KYD ให้หมดจากตลาดการค้า

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิที่จะขอให้ห้ามจำเลยมิให้ผลิตสินค้าที่มีเครื่องหมาย KAYADA KYD พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะเรื่องห้ามมิให้จำเลยผลิตสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า KAYADA KYD และให้เก็บสินค้าที่ใช้ตราเช่นว่านี้ให้หมดสิ้นไปจากตลาดการค้าโดยให้ยกเสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ในชั้นฎีกาประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่านายอัลเบิร์ต ไลแมน พยานโจทก์เบิกความว่า บริษัทโจทก์จดทะเบียนที่โตเกียวประเทศญี่ปุ่น เป็นบริษัทจำกัด นอกจากนี้ โจทก์ ได้ส่งใบรับรองภาษาอังกฤษของหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของหอการค้าลงนามรับรองไว้ตามเอกสารศาลหมาย จ.2 พร้อมกับมีคำแปลภาษาไทยส่งศาลความว่าเครื่องหมายการค้าซึ่งแนบมากับเอกสารฉบับนี้ได้ใช้เป็นอักษรย่อของชื่อห้างโดยบริษัทคายาบาอินดัสตรีย์ จำกัด (เลขที่ 5 ชิบา 3 โชเมมินาโตกุ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น) แสดงว่าบริษัทคายาบาอินดัสตรีย์ จำกัด มีตัวตนตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่นจริง ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกันกับบริษัทคายาบาโตเกียวกาบูชิกิไกชา โจทก์ปรากฏตามหนังสือการลงพิมพ์เครื่องหมายการค้าของสำนักงานเปเต้นท์เอกสารศาลหมาย จ.3 พร้อมคำแปลภาษาไทย ยิ่งได้พิเคราะห์ใบมอบอำนาจภาษาอังกฤษตามเอกสารศาลหมาย จ. 35 ซึ่งมีคำแปลเป็นภาษาไทยประกอบด้วยแล้วปรากฏว่าผู้มอบอำนาจและแต่งตั้งให้นายอัลเบิร์ต ไลแมนเป็นตัวแทนในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและในการฟ้องคดีแทนบริษัทโจทก์ คือ ทาทสุจิ อุราเบ ประธาน กรรมการบริษัทโจทก์ โดยมี มร.เอสมิยากาวาผู้จัดการหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งโตเกียวรับรองลายเซ็นชื่อ ทาทสุจิ อุราเบ กับยังมีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นรับรองลายเซ็นชื่อของผู้จัดการหอการค้าฯอีกทอดหนึ่งด้วย และในที่สุดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียวก็ได้รับรองลายเซ็นชื่อของเจ้าพนักงานกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นด้วยอีกชั้นหนึ่งส่วนจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่าเอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารแท้จริงและคำแปลก็มิได้โต้เถียงว่าไม่ถูกต้อง เช่นนี้ จึงเป็นการเพียงพอที่จะให้ฟังได้ว่าบริษัทโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมอบอำนาจให้นายอัลเบิร์ต ไลแมน ฟ้องคดีแทน คดีหาจำเป็นต้องมีพยานบุคคลมาสืบการแปลเอกสารนั้นจึงจะฟังได้ว่าบริษัทโจทก์มีอำนาจฟ้องดังจำเลยฎีกาแต่อย่างใดไม่ และศาลฎีกาเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า จำเลยจะยกเอามาตรา 29 วรรคต้นแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตัดสิทธิฟ้องร้องของโจทก์เกี่ยวกับกรณีพิพาทว่าฝ่ายใดสมควรที่จะได้รับการจดทะเบียนดีกว่ากันไม่ได้นั้น ชอบแล้ว เพราะมาตรา 29 วรรคต้นเป็นเรื่องการล่วงละเมิดสิทธิเครื่องหมายการค้า จึงเป็นคนละเรื่องกัน ฎีกาของจำเลยในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นเรื่องเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์หรือไม่ ศาลฏีกาวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์พิมพ์เป็นอักษรโรมันไว้ที่หีบห่อ (กล่อง) สำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์เครื่องกันสะเทือนว่า KAYABA และ KYB ส่วนของจำเลยใช้คำว่า KAYADA และ KYD เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงแตกต่างกับโจทก์เพียงอักษร D ซึ่งของโจทก์เป็นอักษร B เท่านั้น นอกนั้นเหมือนกันหมดทุกตัวอักษร สำเนียงการอ่านก็คล้ายกันสำหรับหีบห่อ(กล่อง) บรรจุเครื่องกันสะเทือนของจำเลยตามที่ศาลหมาย จ.2 เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับหีบห่อ (กล่อง) ของโจทก์ศาลหมาย จ.40 เห็นได้ว่าลักษณะหีบห่อ (กล่อง) สีสรร ตลอดจนวางรูปของตัวอักษรเหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์ที่สุด และใช้กับเครื่องกันสะเทือนเหมือนกันนับได้ว่าอาจทำให้สาธารณชนหลงผิดว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และจากการนำสืบของคู่ความ รูปคดีเชื่อได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า KAYABA และ KYB มาก่อนจำเลยใช้เครื่องหมายการค้า KAYADA และ KYD ดังศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว จึงไม่จำต้องกล่าวซ้ำ การกระทำของจำเลยนอกจากเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้า ยังเป็นการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วย อย่างไรก็ดี แม้โจทก์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า KAYABA และ KYB ดีกว่าจำเลย ส่วนจำเลยไม่มีสิทธิจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า KAYADA และ KYD เพราะเป็นการเลียนแบบล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ตาม แต่ปรากฏว่านับแต่ได้ใช้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาจนถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปีแล้ว โจทก์ก็หาได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า KAYABA และ KYB แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น โจทก์จึงนำคดีสู่ศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนหาได้ไม่เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรค 1 และกรณีไม่ต้องด้วยวรรค 2 เพราะไม่มีประเด็นเรื่องลวงขายคดีนี้โจทก์จึงหมดสิทธิเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

ประเด็นที่โจทก์ขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้จำเลยผลิตสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า KAYADA และ KYD และให้เก็บสินค้าที่ใช้ตราเช่นว่านั้นให้หมดสิ้นจากตลาดการค้า ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้บริบูรณ์ตามกฎหมายเสียก่อน โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้จำเลยผลิตสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า KAYADA และ KYDของจำเลยอยู่ตราบนั้น สำหรับคำขอให้เก็บสินค้าที่ใช้ตราเช่นว่านั้นให้หมดสิ้นไปจากตลาดการ ก็บังคับให้ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อขณะนี้โจทก์ยังไม่อาจขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้จำเลยผลิตสินค้าที่มีเครื่องหมายของจำเลยได้แล้ว สำหรับสินค้าที่จำเลยจำหน่ายออกไปแล้ว โจทก์ยังไม่มีสิทธิที่จะขอให้ศาลบังคับจำเลยให้เรียกเก็บคืนซึ่งสินค้าเหล่านั้นจากตลาดการค้าได้ ฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับคำขอดังกล่าวจึงตกไป

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะค่าเสียหาย 10,000 บาทเป็นว่าจำเลยไม่ต้องชำระแก่โจทก์ นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share