คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2078/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

‘การทำงาน’ ตามคำนิยามของค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน หมายถึงการทำงานตามปกติที่นายจ้างมอบหมายให้ลูกจ้างทำในกิจการของนายจ้าง เมื่อนายจ้างซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมีคำสั่งให้ลูกจ้างอยู่เวรเพื่อป้องกันอัคคีภัยตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ อันเป็นหน้าที่พิเศษนอกเหนือจากกิจการตามปกติของนายจ้าง ลูกจ้างที่ต้องอยู่เวรเพื่อป้องกันอัคคีภัยจึงไม่มีสิทธิได้ค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยได้กำหนดให้โจทก์อยู่เวรป้องกันอัคคีภัยอันจะพึงเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินของจำเลย โดยให้มาปฏิบัติงานนอกเหนือจากวัน เวลา ทำงานปกติ รวมทั้งให้มาปฏิบัติงานในวันหยุดทุกประเภทถือได้ว่าจำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด หรือทำงานล่วงเวลาในวันหยุด จำเลยต้องจ่ายค่าทำงานของโจทก์ตามระเบียบจำเลยฯและตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ค่าจ้างค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด คงจ่ายแต่ค่าเบี้ยเลี้ยงต่อหนึ่งช่วงของการอยู่เวรเท่านั้น ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดจ่ายค่าจ้าง และเมื่อพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันจ่ายค่าจ้างให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มแก่โจทก์ร้อยละสิบห้าของจำนวนที่ค้างชำระทุกระยะเจ็ดวัน
จำเลยให้การว่า การกำหนดให้ลูกจ้างของจำเลยอยู่เวรป้องกันอัคคีภัยก็เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยต่อทรัพย์สินของจำเลยอันเป็นทรัพย์ของแผ่นดินเป็นการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ตามนโยบายรัฐบาลการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในการอยู่เวรป้องกันอัคคีภัยจึงมิใช่การทำงานดังความหมายในข้อ ๓ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯแม้โจทก์จะต้องมาทำหน้าที่ดังกล่าวเกินเวลาทำงานตามปกติ หรือมาทำงานในวันหยุด หรือทำงานในวันหยุดและเกินเวลาทำงานตามปกติของเวลาทำงานก็มิใช่เป็นการทำงานล่วงเวลาตามความหมายในข้อ ๓๔, ๓๙ และ ๔๒ หากแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่เฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของจำเลยตามข้อ ๓๖(๖)โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างในการทำงานล่วงเวลา คงมีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยงตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเท่านั้น เงินค่าเบี้ยเลี้ยงที่โจทก์ได้รับจากจำเลยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดจ่ายค่าจ้างอันเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตามข้อ ๓๑ ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การอยู่เวรอัคคีภัยของโจทก์มิใช่เป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ตามปกติของโจทก์หรือเกี่ยวพันกับหน้าที่โดยตรงของโจทก์ จึงมิใช่เป็นการทำงานปกติ ทั้งการอยู่เวรอัคคีภัยของโจทก์มีลักษณะเป็นงานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๓๖(๖) พิพากษายกฟ้องโจทก์
ผู้พิพากษาสบทบฝ่ายลูกจ้างทำความเห็นแย้งว่า การปฏิบัติงานนอกเหนือจากหน้าที่ของโจทก์ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เป็นการปฏิบัติงานล่วงเวลา จำเลยควรจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ตามข้อ ๓๔ และ ๔๒ ของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ไม่ควรถูกยกเว้นการจ่ายค่าล่วงเวลาตามข้อ ๓๖
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ ๒ ได้ให้คำนิยามคำว่า “ค่าล่วงเวลา” ว่า”หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานตามปกติ” และให้นิยามคำว่า “ค่าทำงานในวันหยุด” ว่า”หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในวันหยุด”คำว่า “การทำงาน” ตามคำนิยามของค่าล่วงเวลาก็ดีค่าทำงานในวันหยุดก็ดี หมายถึงการทำงานตามปกติที่นายจ้างมอบหมายให้ลูกจ้างทำในกิจการของนายจ้าง การที่จำเลยจัดให้ลูกจ้างอยู่เวรเพื่อป้องกันอัคคีภัยอันอาจจะเกิดแก่ทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นหน้าที่พิเศษนอกเหนือจากกิจการตามปกติของจำเลย การทำงานของโจทก์ตามหน้าที่ที่จำเลยมอบหมายในกิจการของจำเลย คือเป็นช่างทำหน้าที่เป็นช่างพิมพ์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัย ดังนั้น การที่โจทก์ต้องอยู่เวรอัคคีภัย ตามคำสั่งของจำเลยโดยอาศัยระเบียบดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการทำงานตามปกติของโจทก์ที่ได้รับมอบให้ทำในกิจการของจำเลยผู้เป็นนายจ้าง แม้โจทก์จะอยู่เวรป้องกันอัคคีภัยนอกเวลาทำงานปกติ หรือในวันหยุด หรือในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติของวันทำงาน โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา หรือค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดแล้วแต่กรณี
พิพากษายืน

Share