คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2077/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อให้เกิด ความเสียหายแก่อาคารของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้เลือกจ้าง จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 และในระหว่างการก่อสร้าง อ. กรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ไปสังเกตการณ์ทุกวัน ดังนี้ พฤติการณ์ ที่จำเลยที่ 1 ได้ไปควบคุมดูแลการก่อสร้างตลอดเวลาและ มีข้อสัญญาที่ให้จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาได้หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่ง ที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้างตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 428 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์ให้ร.เช่าอาคารของโจทก์และต่อมาร. เลิกเช่าอาคารเนื่องจากการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารที่ร.เช่าจากโจทก์ดังนี้ ค่าเช่าที่โจทก์ไม่ได้รับเนื่องจากร. บอกเลิกการเช่าจึงเป็นค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ได้ หนี้ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจ แบ่งแยกได้จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้อุทธรณ์และฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบ มาตรา 245(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1,620,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 70,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2539 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าเช่าเดือนละ 70,000 บาท นับแต่เดือนตุลาคม 2538 เป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหายร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าเช่าจำนวน 560,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เลือกจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 ในระหว่างการก่อสร้างนายอุดมได้ไปสังเกตการณ์ทุกวัน ซึ่งตามสัญญารับจ้างเหมางานการก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย ล.2 ได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าการก่อสร้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องกระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับในสัญญาดังกล่าวซึ่งหากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ได้ไปควบคุมดูแลการก่อสร้างตลอดเวลาและมีข้อสัญญาที่ให้จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาได้หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาดังกล่าวย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้างตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 428 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ได้ความจากการนำสืบของโจทก์ว่า เมื่ออาคารของโจทก์ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงกันระหว่างโจทก์กับตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่ออาคารของโจทก์ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งจำเลยที่ 3 มิได้นำสืบพยานหักล้างในข้อนี้ รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจริงอันเป็นรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่ออาคารของโจทก์
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงไร เห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท เหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว สำหรับค่าเสียหายในส่วนค่าขาดประโยชน์จากการเช่านั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าเหตุที่นายรอสโซเลิกเช่าอาคารของโจทก์ เนื่องจากการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 ค่าเช่าที่โจทก์ไม่ได้รับเนื่องจากนายรอสโซบอกเลิกจึงเป็นค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องได้ตามกฎหมายสำหรับจำนวนค่าเช่านั้น จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่าโจทก์ได้รับค่าเช่าเพียงเดือนละ 5,000 บาท ในข้อนี้ปรากฏว่าตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนายรอสโซดังกล่าวได้ระบุไว้ในข้อ 3 ว่า เป็นค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท ส่วนอีก 65,000 บาท เป็นค่าบำรุงรักษาและบริการรายเดือน สำหรับค่าบำรุงรักษาและค่าบริการนั้นโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความชัดว่าเป็นค่าอะไรบ้างที่โจทก์เสียไป แต่ได้ความจากคำเบิกความของนายอุดมว่าเฉพาะชั้นล่างอาคารของโจทก์จะให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ดังนั้น ค่าเช่าอาคารของโจทก์ทั้งหลังย่อมเกินกว่าเดือนละ 5,000 บาท อย่างแน่นอน จึงเห็นสมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์จากการเช่าให้โจทก์เดือนละ 40,000 บาท เป็นค่าเสียหายที่จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ได้ในระยะเวลา 1 ปีรวมเป็นเงิน 480,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 แม้จะไม่ได้อุทธรณ์ และฎีกาแต่หนี้ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 245(1)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการเช่าจำนวน 480,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share