คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2074/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีการค้าของธนาคารโจทก์ได้บรรยายที่มาแห่งหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามความรับผิดของจำเลยทั้งสามที่มีต่อโจทก์และการคิดดอกเบี้ยตลอดจนจำนวนหนี้ที่คำนวณถึงวันฟ้องโดยละเอียดและชัดแจ้งเป็นที่เข้าใจได้อย่างดีว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์เพราะเหตุใดจำเลยทั้งสามได้ชำระหนี้ให้โจทก์ไปแล้วเป็นจำนวนเงินเท่าใดและจำเลยทั้งสามยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนเงินเท่าใดจึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองแล้วโจทก์หาต้องแบบหลักฐานหรือเอกสารแสดงรายละเอียดการเบิกเงินการชำระเงินการหักทอนบัญชีและการคิดดอกเบี้ยในแต่ละเดือนมาพร้อมกับคำฟ้องไม่เพราะเป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบกันต่อไปในชั้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ไม่เคลือบคลุม จำเลยที่1ได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารโจทก์ต่อมาจำเลยที่1ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวในวงเงิน16,500,000บาทโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้กรณีเช่นนี้สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1ซึ่งมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้คืนจะสิ้นสุดลงต่อเมื่อคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญาต่อกันหรือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้หักทอนบัญชีและให้ชำระหนี้ที่มีต่อกันแล้วสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องจำเลยที่1ให้ชำระหนี้คงเหลืออันเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา856และ859ตราบใดที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดยังมิได้เลิกกันโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนกว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะเลิกกัน ตามรายการในบัญชีของโจทก์ระบุข้อความไว้ถึงจำนวนวงเงินเบิกเกินบัญชีอัตราดอกเบี้ยและวันครบกำหนดไว้ว่าเป็นวันที่30ธันวาคม2528ซึ่งเป็นเพียงวิธีปฏิบัติทางบัญชีภายในของโจทก์มิได้ผูกพันถึงจำเลยที่1ด้วยและจำเลยที่1และที่2ก็มิได้ตกลงกันให้การเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์และจำเลยที่1ครบกำหนดตามวันที่ระบุไว้ตามรายการในบัญชีดังกล่าวทั้งตามรายการในบัญชีที่โจทก์ยกยอดมาตั้งเป็นบัญชีใหม่เมื่อวันที่30สิงหาคม2528ในช่องวันครบกำหนดก็มิได้ระบุวันครบกำหนดไว้และโจทก์ยังคงคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่1ต่อไปดังนั้นจึงไม่อาจถือว่าโจทก์และจำเลยที่1ตกลงถือเอาวันที่ระบุไว้ในบัญชีเป็นวันครบกำหนดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและมีการต่อสัญญากันจนถึงวันที่30ธันวาคม2528อันเป็นวันสิ้นสุดของสัญญาไม่แม้หลังจากวันที่30ธันวาคม2528จะปรากฏว่าจำเลยที่1ไม่เคยเบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวอีกและมียอดเงินในบัญชียังไม่เกินวงเงินตามข้อตกลงในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคงปรากฏแต่รายการที่จำเลยที่1นำเงินชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเท่านั้นก็ตาแต่เมื่อไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงยังไม่สิ้นสุดลงโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญาได้จนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด โจทก์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มิได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืนไว้ส่งไปถึงจำเลยวันที่1มีนาคม2534และเรียกให้ชำระหนี้ค้างชำระแก่โจทก์ทั้งหมดภายใน30วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถามหากไม่ชำระให้ถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1ได้สิ้นสุดลงณวันครบกำหนดเวลาดังกล่าวจึงถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกและหักทอนบัญชีในวันที่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่31มีนาคม2534ซึ่งเป็นวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1เป็นอันสิ้นสุดลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2526 จำเลยที่ 1เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวัน และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวกับโจทก์สาขาอุบลราชธานี ในวงเงิน 16,500,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นในอัตราสูงสุดที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด วันที่ 21 มีนาคม 2527 และวันที่ 28 มีนาคม 2528 จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้และรับเงินไปจากโจทก์ สาขาร้อยเอ็ด ตามบัญชีเลขที่27/22 และ 28/20 เป็นจำนวน 5,600,000 บาท และ 2,020,000 บาทตามลำดับโดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดชำระดอกเบี้ยภายในวันที่ 5 ของทุกเดือนชำระต้นเงินให้เสร็จภายใน 1 ปี เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ดังกล่าวจำเลยที่ 2 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 16267 ถึง 16272, 23950,23957 และ 23958 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองไว้แก่โจทก์รวมวงเงินจำนวน 5,500,000 บาท หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 2 ยอมชำระหนี้จำนวนที่ขาดอยู่จนครบถ้วน วันที่19 เมษายน 2525 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ทุกชนิดของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 5,000,000 บาท และวันที่12 มิถุนายน 2527 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ทุกชนิดของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 7,200,000 บาท โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้เงินกู้ 2 บัญชีพร้อมทั้งดอกเบี้ยและให้ไถ่ถอนจำนอง แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม ถือว่าจำเลยทั้งสามผิดนัดชำระหนี้ และบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2534 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวเมื่อคิดถึงวันที่ 31 มีนาคม 2534 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวเป็นเงิน 7,875,779.98 บาท นับแต่วันที่1 เมษายน 2534 จนถึงวันฟ้องโจทก์คิดดอกเบี้ยอย่างธรรมดาเป็นเงิน 745,933.15 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย8,621,713.13 บาท สำหรับหนี้เงินกู้บัญชีเลขที่ 27/22 จำเลยทั้งสามค้างชำระเฉพาะดอกเบี้ยโจทก์เป็นเงิน 25,126.32 บาท ส่วนบัญชีเลขที่ 28/20 จำเลยทั้งสามค้างชำระต้นเงิน 20,000 บาทกับดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,121,996.07 บาท เมื่อรวมหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีกับหนี้เงินกู้ทั้งสองบัญชี จำเลยทั้งสามจะต้องชำระต้นเงิน 7,895,779.98 บาท และดอกเบี้ย 1,993,055.54 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 9,888,835.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,895,779.98 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2ตลอดทั้งทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1มิได้เบิกเงินและรับเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินไปตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันที่สัญญาครบกำหนด จำเลยที่ 2 ค้ำประกันเพียง 7,200,000 บาทจะต้องรับผิดไม่เกินวงเงินที่ค้ำประกันไว้ 7,200,000 บาทกับดอกเบี้ยอย่างธรรมดา หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองโดยกำหนดเวลาไว้สิ้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 นำสัญญาค้ำประกันซึ่งยังไม่กรอกข้อความมาให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อ แล้วโจทก์กับจำเลยทั้งสองร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 หากจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดไม่เกินวงเงินที่ค้ำประกันโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 9,888,835.52 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,895,779.98 บาทนับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงินไม่เกิน 12,200,000บาท และ 7,200,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2527 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2527อัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2527 ถึงวันที่1 สิงหาคม 2528 อัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม2528 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 อัตราร้อยละ 17 ต่อปีนับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 อัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2533อัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2533 ถึงวันที่25 พฤศจิกายน 2533 อัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2533อัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่23 ธันวาคม 2533 อัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่24 ธันวาคม 2533 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2534 โดยวิธีทบต้นอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2534 ถึงวันที่4 กรกฎาคม 2534 และอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่5 กรกฎาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยไม่ทบต้นทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้บังคับจำนองนำที่ดินโฉนดเลขที่ 16267 ถึง 16272,23950, 23957 และ 23958 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานีจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีการค้าของธนาคารนั้นคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายที่มาแห่งหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามความรับผิดของจำเลยทั้งสามที่มีต่อโจทก์ และการคิดดอกเบี้ยตลอดจนจำนวนหนี้ที่คำนวณถึงวันฟ้องโดยละเอียดและชัดแจ้งเป็นที่เข้าใจได้อย่างดีว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์เพราะเหตุใดจำเลยทั้งสามได้ชำระหนี้ให้โจทก์ไปแล้วเป็นจำนวนเงินเท่าใดและจำเลยทั้งสามยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนเงินเท่าใดคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อความครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วโจทก์หาต้องแนบหลักฐานหรือเอกสาร แสดงรายละเอียดการเบิกเงินการชำระเงิน การหักทอนบัญชีและการคิดดอกเบี้ยในแต่ละเดือนมาพร้อมกับคำฟ้องดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาไม่ ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบกันต่อไปในชั้นพิจารณา คำฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ไม่เคลือบคลุม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปเป็นประการที่สองตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันใดโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ธันวาคม 2528 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้เพียงวันดังกล่าวเท่านั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1ได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันไว้กับโจทก์สาขาอุบลราชธานี ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวในวงเงิน 16,500,000 บาท โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้กรณีเช่นนี้สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้คืนจะสิ้นสุดลงต่อเมื่อคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญาต่อกันหรือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้หักทอนบัญชีและให้ชำระหนี้ที่มีต่อกันแล้ว และสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้คงเหลืออันเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 และ 859 ตราบใดที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดยังมิได้เลิกกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนกว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะเลิกกัน แม้จะปรากฏตามรายการในบัญชีที่ 757 เอกสารหมาย จ.23 จะระบุข้อความไว้ที่มุมบนด้านขวาของแผ่นที่ 1 ถึงแผ่นที่ 26 และแผ่นที่ 27 ถึงแผ่นที่ 60 กับแผ่นที่ 61 ถึงแผ่นที่ 67 ถึงจำนวนเงินเบิกเกินบัญชีอัตราดอกเบี้ยและวันครบกำหนดไว้ว่าวันที่ 5 กรกฎาคม 2527 วันที่30 ธันวาคม 2527 และวันที่ 30 ธันวาคม 2527 ก็ตาม ก็เป็นเพียงวิธีปฏิบัติทางบัญชีภายในของโจทก์มิได้ผูกพันถึงจำเลยที่ 1 ด้วยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้ให้การและนำสืบว่าได้มีการตกลงกันให้การเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ครบกำหนดตามวันดังกล่าว ทั้งมิได้ซักค้านพยานโจทก์ให้อธิบายถึงความหมายของข้อความดังกล่าวด้วย ทั้งตามรายการในบัญชี 757 เอกสารหมาย จ.24 ที่โจทก์ยกยอดมาตั้งเป็นบัญชีใหม่เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2528ในช่องวันครบกำหนดก็มิได้ระบุวันครบกำหนดไว้และโจทก์ยังคงคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ต่อไป ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงถือเอาที่ระบุไว้ในบัญชีเอกสารหมาย จ.23ดังกล่าวเป็นวันครบกำหนดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและมีการต่อสัญญากันจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2528 อันเป็นวันสิ้นสุดของสัญญาดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาไม่ แม้หลังจากวันที่ 30 ธันวาคม 2528 จะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยเบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวอีกและมียอดเงินในบัญชียังไม่เกินวงเงิน 16,500,000 บาท ตามข้อตกลงในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี คงปรากฏแต่รายการที่จำเลยที่ 1นำเงินชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเท่านั้น ก็ตาม แต่เมื่อไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงยังไม่สิ้นสุดลงโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญาได้จนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด ซึ่งในคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มิได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ค้นไว้ส่งไปถึงจำเลยทั้งสามวันที่ 1 มีนาคม 2534 และเรียกให้ชำระหนี้ค้างชำระแก่โจทก์ทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม หากไม่ชำระให้ถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ได้สิ้นสุดลง ณ วันครบกำหนดเวลาดังกล่าว จึงถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกและหักทอนบัญชีในวันที่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2534 ซึ่งเป็นวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นอันสิ้นสุดลง
พิพากษายืน

Share