คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2072/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทช.ขายรถจักรยานยนต์ให้จำเลยแบบผ่อนชำระราคาเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ย่อมโอนไปยังจำเลยทันที่ที่ตกลงกันเมื่อจำเลยเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์คันที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานชิงทรัพย์การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ จำเลยเป็นโรคจิตกระทำความผิดขณะยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา65วรรคสองแต่โทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเป็นอัตราสูงสุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา295ทั้งที่ศาลอุทธรณ์นำมาตรา65วรรคสองมาประกอบการลงโทษด้วยโทษจำคุกจึงสูงเกินสมควรปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา195วรรคสองประกอบด้วยมาตรา225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339, 371, 91
จำเลยให้การว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันทรัพย์สินของจำเลยโดยสมควรแก่เหตุ และจำเลยได้กระทำในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม และมาตรา 371ประกอบมาตรา 65 วรรคสองการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 65 วรรคสอง จำคุก 4 ปี และมาตรา 371 ปรับ100 บาท รวมจำคุก 4 ปี ปรับ 100 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 65 วรรคสองวางโทษจำคุก 2 ปี และให้รอการลงโทษ 2 ปี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัทโชติศิรา จำกัด ขายรถจักรยานยนต์ให้จำเลยแบบผ่อนชำระราคา เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหาใช่เป็นการเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ย่อมโอนไปยังจำเลยทันที่ที่ตกลงกัน เมื่อฟังว่าจำเลยเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์คันที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานชิงทรัพย์แล้วการกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์
ที่โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า แม้จำเลยจะเป็นโรคจิต แต่จำเลยกระทำผิดขณะมีสติสัมปชัญญะ ไม่ควรรอการลงโทษให้นั้นเห็นว่า จำเลยเป็นโรคจิต กระทำความผิดในขณะยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี และรอการลงโทษให้นั้นโทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเป็นอัตราสูงสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ทั้งที่ศาลอุทธรณ์นำมาตรา 65 วรรคสอง มาประกอบด้วยว่าศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ โทษจำคุกจึงสูงเกินสมควร ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และให้รอการลงโทษ 2 ปี

Share