คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เหตุเกิดในเวลากลางคืน ผู้เสียหายอ้างว่าเห็นและจำหน้าคนร้ายได้ในขณะที่คนร้ายขับรถจักรยานยนต์แซงรถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายนั่งซ้อนท้าย ป. มา โดยอาศัยแสงไฟรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายและแสงไฟรถจักรยานยนต์ที่แล่นสวนมากับแสงจันทร์แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วแสงไฟรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายย่อมพุ่งไปข้างหน้าจึงไม่สว่างพอที่จะทำให้ผู้เสียหายเห็นหน้าคนร้ายที่ขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่แซงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายได้ส่วนแสงจันทร์ก็มีความสว่างน้อยไม่พอจะเห็นหน้าคนร้ายได้ ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยว่าเป็นคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์แต่กลับเบิกความตอบคำถามค้านว่าตอนที่ชี้ตัวนั้นเพิ่งรู้ว่าจำเลยเป็นคนที่ตนรู้จักมาก่อน ดังนี้หากผู้เสียหายจำคนร้ายได้จริงก็น่าจะบอกชื่อคนร้ายได้ในวันเกิดเหตุ คำเบิกความของผู้เสียหายจึงมีพิรุธไม่น่าเชื่อ ช่วงเวลาที่คนร้ายที่นั่งซ้อนรถจักรยานยนต์ลงจากรถมาถีบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายทันทีจน ป. พยานและรถตกลงไปในคูน้ำข้างทาง ทำให้โอกาสที่ ป. จะเห็นและจำหน้าคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์มีน้อย เมื่อพยานหลักฐานโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340วรรคสี่, 340 ตรี, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 5,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 จำคุก 20 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 5,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีผู้เสียหายและนายประจิม ปลอดภัย เบิกความว่า จำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย เห็นว่าเหตุเกิดเวลากลางคืน ผู้เสียหายอ้างว่าเห็นและจำคนร้ายได้โดยอาศัยแสงไฟรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายและแสงไฟรถจักรยานยนต์ที่แล่นสวนมากับแสงจันทร์ แต่ตามข้อเท็จจริงรถจักรยานยนต์ของคนร้ายขับแซงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแสงไฟรถจักรยานยนต์ซึ่งพุ่งไปข้างหน้าไม่สว่างพอที่จะเห็นหน้าคนร้ายที่ขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่แซงรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายแม้จะมีรถจักรยานยนต์ขับแล่นสวนมา แสงไฟก็ไม่สว่างพอส่วนแสงจันทร์ก็มีความสว่างน้อยไม่พอจะเห็นหน้าคนร้ายได้ ซึ่งข้อนี้จะเห็นได้จากผู้เสียหายเบิกความว่า นายประจิมจำลักษณะของคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์ได้ ผู้เสียหายจำรูปร่างลักษณะของคนร้ายอีก 2 คนซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ได้ แต่เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ผู้เสียหายไปดูตัวคนร้าย ผู้เสียหายชี้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์ กลับเบิกความตอบคำถามค้านว่าตอนที่ผู้เสียหายชี้ตัวคนร้ายจึงรู้ว่าจำเลยเป็นคนที่ผู้เสียหายรู้จักมาก่อน และรู้ว่าจำเลยเป็นคนบ้านโคกโตนด ดังนี้ หากผู้เสียหายจำคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์ได้จริงก็จะต้องระบุชื่อจำเลยในวันเกิดเหตุคำเบิกความของผู้เสียหายมีพิรุธ ไม่น่าเชื่อ ส่วนนายประจิมเบิกความว่า จำจำเลยได้โดยอาศัยแสงไฟรถจักรยานยนต์ตอนที่ล้อหน้ารถจักรยานยนต์ของจำเลยชนล้อหน้ารถจักรยานยนต์ผู้เสียหายเห็นว่า ลักษณะการชนดังกล่าวแสงไฟส่องไม่ถึงหน้าคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์ และคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ได้ลงจากรถมาถีบรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายทันทีจนนายประจิมและรถตกลงไปในคูน้ำโอกาสที่นายประจิมจะเห็นและจำหน้าคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์จึงมีน้อย แม้นายประจิมจะเบิกความว่าได้แจ้งต่อร้อยตำรวจเอกอวยพรกุยโกมุท ว่าจำเลยเป็นคนร้ายต่อหน้าผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายเบิกความว่า นายประจิมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าจำลักษณะของคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์ได้เท่านั้น คำเบิกความของนายประจิมจึงมีพิรุธประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด และจำเลยมีนายกฤษฎาใจเขียว เบิกความสนับสนุนว่า วันเกิดเหตุจำเลยอยู่กับพยานจนถึงเวลาประมาณ 23 นาฬิกา ซึ่งข้อนี้ร้อยตำรวจเอกอวยพรพยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านว่า วันไปเชิญตัวจำเลยไปสถานีตำรวจจำเลยได้พาไปพบชายคนหนึ่งซึ่งจำเลยอ้างว่าในคืนเกิดเหตุได้ไปกับชายดังกล่าวพยานได้สอบถาม ชายดังกล่าวได้บอกพยานว่าในช่วงหัวค่ำของวันเกิดเหตุได้ไปเที่ยวกับจำเลยจริง พยานหลักฐานโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share