คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20664/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัด มีหน้าที่บำรุงรักษาวัด การบริหารจัดการกิจการและศาสนสมบัติของวัด โจทก์โดยเจ้าอาวาสจึงย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ที่อยู่ในที่ดินของโจทก์ ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของวัดโดยละเมิดได้ ส่วนการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้น เป็นเรื่องของการกำหนดวิธีการในการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับเรื่องอำนาจฟ้อง
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเพียงตัวแทนโจทก์ในการนำที่ดินศาสนสมบัติของวัดโจทก์ออกให้เช่า ซึ่งการตั้งตัวแทนให้กระทำการต่าง ๆ นั้นหาตัดสิทธิตัวการที่จะกระทำการนั้นด้วยตนเองไม่ และโจทก์โดยเจ้าอาวาสมีอำนาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างคือ บ้านเลขที่ 203 ก. แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร และขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ หากไม่รื้อถอนขนย้ายออกไป ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ 203 ก. (ปัจจุบันบ้านเลขที่ 362) แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร และขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 13898 ตำบลวัดกัลยาณ์ อำเภอธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31 มิได้บัญญัติให้เจ้าอาวาสมีอำนาจดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด การจัดการเกี่ยวกับศาสนสมบัติของวัดจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 40 วรรคสาม ซึ่งกำหนด ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เมื่อยังไม่มีการออกกฎกระทรวงในเรื่องดังกล่าว พระธรรมเจดีย์เจ้าอาวาสวัดโจทก์จึงไม่มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13898 ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของวัดโจทก์ จึงไม่อาจมอบอำนาจให้นายพิชาน หรือนายสันติ ไวยาวัจกรวัดโจทก์มาฟ้องคดีนี้ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 บัญญัติว่า วัดมีสองอย่าง (1) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (2) สำนักสงฆ์ ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป มาตรา 37 บัญญัติว่า เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้ (1) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี และมาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท (1) ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ทรัพย์สินของศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง (2) ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง ดังนั้น เมื่อตามมาตรา 31 บัญญัติให้เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัด และมาตรา 37 (1) บัญญัติให้เจ้าอาวาสมีหน้าที่บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ซึ่งคำว่า จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดนั้นหมายถึง การบริหารจัดการวัดและศาสนสมบัติของวัดนั้นเอง โจทก์โดยเจ้าอาวาสจึงย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ที่อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 13898 ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของวัดโจทก์โดยละเมิดเพื่อนำที่ดินไปใช้เพื่อประโยชน์ของวัดโจทก์ได้ ส่วนบทบัญญัติมาตรา 40 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้น เป็นเรื่องของการกำหนดวิธีการในการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับเรื่องอำนาจฟ้อง ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์จะต้องมอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้ฟ้องร้องคดีนี้แทนนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเพียงตัวแทนโจทก์ในการนำที่ดิน ศาสนสมบัติของวัดโจทก์ออกให้เช่า ซึ่งการตั้งตัวแทนให้กระทำการต่าง ๆ นั้นหาตัดสิทธิตัวการที่จะกระทำการนั้นด้วยตนเองไม่ อีกทั้งคดีนี้เป็นการฟ้องให้รับผิดในข้อหาละเมิด หาใช่เป็นการฟ้องให้รับผิดตามสัญญาเช่าไม่เมื่อโจทก์โดยเจ้าอาวาสมีอำนาจฟ้องขับไล่แล้ว โจทก์ก็ย่อมมอบอำนาจให้นายพิชานหรือนายสันติฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการต่อไปว่า การขีดฆ่าอากรแสตมป์โดยไม่ได้ลงวันที่ในหนังสือมอบอำนาจเป็นการชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 103 หรือไม่ เห็นว่า การระบุวันเดือนปีพร้อมกับการขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้น เพียงมุ่งหมายให้ทราบว่าได้ปิดและขีดฆ่าเมื่อใดเท่านั้น เมื่ออากรแสตมป์ได้มีการขีดฆ่าแล้วแม้ไม่ได้ลงวันเดือนปีที่ขีดฆ่าก็เป็นการขีดฆ่าตามความในมาตรา 103 แล้ว ซึ่งรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 118 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share