คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2066/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแต่เป็นผู้ติดต่อส่งสินค้าไปยังต่างประเทศและได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ให้สั่งจ่ายเช็คได้ทั้งจำเลยที่ 3 ยังได้ทำบันทึกความเข้าใจ พร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1ด้วย โดยทำในนามของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อโจทก์โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2537 ถึงกลางเดือนมกราคม 2538จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เป็นตัวแทนขนส่งเครื่องสำอางไปยังประเทศสหพันธรัฐรัสเซียโดยสายการบินโซเวียตรวม 2 ครั้ง ครั้งหนึ่ง น้ำหนัก 1,271กิโลกรัม อัตรากิโลกรัมละ 61 บาท เป็นค่าระวางกับค่าบำเหน็จ 77,531 บาท และค่าธรรมเนียมคลังสินค้าอีก 100 บาท รวมเป็นเงิน 77,631 บาท โจทก์ดำเนินการตามข้อตกลงจนเสร็จและส่งใบแจ้งหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว ครั้งที่สองน้ำหนัก3,203.50 กิโลกรัม อัตรากิโลกรัมละ 61 บาท เป็นค่าระวางกับค่าบำเหน็จ 195,414บาท และค่าธรรมเนียมคลังสินค้าอีก 100 บาท รวมเป็นเงิน 195,514 บาท โจทก์ดำเนินการตามข้อตกลงจนเสร็จและส่งใบแจ้งหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 273,145 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 มกราคม 2538 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับใบแจ้งหนี้ฉบับสุดท้ายเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำนวณถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 ค้างชำระดอกเบี้ยเป็นเงิน 101,924.24 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 375,069.24 บาท

จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน273,145 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเป็นตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศโดยจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 1 เคยว่าจ้างโจทก์ให้เป็นตัวแทนขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อโจทก์ส่งสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปยังต่างประเทศ โจทก์จะต้องทดรองจ่ายเงินค่าระวาง ค่าบำเหน็จ และค่าธรรมเนียมคลังสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน แล้วส่งใบแจ้งหนี้ไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1ในภายหลัง ต่อมาเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2537 ถึงกลางเดือนมกราคม 2538จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ให้เป็นตัวแทนขนส่งเครื่องสำอางไปยังประเทศสหพันธรัฐรัสเซียรวม 2 ครั้ง ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีว่า จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะมีนายชัยณรงค์ สนธิปรีชากุล เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามว่า ก่อนส่งสินค้าพิพาทในคดีนี้ พยานซึ่งมีหน้าที่รับสินค้าของจำเลยที่ 1 เพื่อส่งไปยังต่างประเทศได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ และโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 1ไว้เรียบร้อยก็ตาม แต่นายชัยณรงค์ก็เบิกความตอบคำซักถามของทนายโจทก์ว่า ก่อนคดีนี้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ดำเนินธุรกิจดังกล่าวมา 3 ถึง 4 ปี แล้ว และเบิกความตอบคำถามติงว่า จำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินโจทก์จะนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระไปหักกลบลบหนี้กับจำนวนหนี้ที่เกิดขึ้นก่อน โดยโจทก์มีนางสาวดวงเดือน จรัสรุ่งนิภากุล พนักงานบัญชีของโจทก์เบิกความสนับสนุนว่า ในทางปฏิบัติของโจทก์หลังจากได้รับชำระหนี้แล้วโจทก์จะเอาจำนวนหนี้ที่นำมาชำระไปหักทอนกับหนี้ที่ค้างชำระก่อน เมื่อพยานตรวจสอบทางบัญชีแล้วพบว่าจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้จำนวน 273,145 บาท คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวจึงสอดคล้องกับบันทึกความเข้าใจเบื้องต้นเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นลูกหนี้พร้อมนำตราสำคัญของจำเลยที่ 1มาประทับด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 จะถูกหลอกลวงดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาทั้งจำเลยที่ 3 ก็มิได้มาเบิกความโต้แย้งให้เห็นเป็นเช่นนั้น เมื่อบันทึกดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ชัดว่า จำเลยที่ 1 ยังมีหนี้ค้างชำระมาก่อนจริง และมีข้อตกลงไว้ด้วยว่า ให้แยกหนี้ตามใบแจ้งหนี้ที่ 412 อี 01244 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2537เงินจำนวน 77,671 บาท และหนี้ตามใบแจ้งหนี้ที่ 501 อี 00510 ลงวันที่ 9มกราคม 2538 เงินจำนวน 195,514 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 273,145 บาทออกจากหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดก่อนเพื่อตรวจสอบเอกสารและหลักฐานทางบัญชีเกี่ยวกับการชำระหนี้ตามใบแจ้งหนี้ทั้งสองฉบับนี้ให้เป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกันภายหลัง แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์จำนวน 273,145 บาทเพียงแต่ขอให้โจทก์ตรวจสอบอีกครั้งว่าตามที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไปแล้วนั้น โจทก์นำไปหักกลบลบหนี้ตามใบแจ้งหนี้ทั้งสองฉบับดังกล่าวด้วยหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2ก็เบิกความยอมรับว่าหากมีหนี้ค้างชำระจริงก็เป็นเงินประมาณ 300,000 บาทคำเบิกความของจำเลยที่ 2 จึงเจือสมข้อนำสืบของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ยังมีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์จำนวน 273,145 บาท จึงต้องรับผิดชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแต่เป็นผู้ติดต่อส่งสินค้าไปยังต่างประเทศและได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ให้สั่งจ่ายเช็คได้อันเป็นการผิดวิสัยของผู้ที่กระทำในฐานะลูกจ้าง จำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 3 ยังได้ทำบันทึกความเข้าใจเอกสารหมาย จ.10 พร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ด้วยโดยทำในนามของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ ตามพฤติกรรมของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2ต่อโจทก์โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share