คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยนำสุกรออกจากเขตท้องที่ตำบลห้วยแก้งอำเภอกุดชุมจังหวัดยโสธร มายังเขตท้องที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองจังหวัดยโสธร จะนำสุกรนั้นไปขายที่จังหวัดร้อยเอ็ดโดยมิได้นำสุกรไปให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ตรวจและทำลายเชื้อโรคระบาดสัตว์ตามระเบียบของกรมปศุสัตว์และยังไม่ได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ประจำท้องที่ให้นำไปยังท้องที่ต่างจังหวัดได้ แต่ถูกจับกุมพร้อมด้วยสุกรนั้นขณะจำเลยยังอยู่ในท้องที่ของจังหวัดยโสธร ดังนี้ จำเลยยังไม่มีความผิดฐานนำสุกรไปยังท้องที่ต่างจังหวัด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ทราบประกาศกฎกระทรวงเกษตรฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2499) และฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2499) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7, 21 และ 34 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 แล้ว จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทง ต่างกรรมต่างวาระ โดยจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำการค้าสุกรในลักษณะคนกลาง คือ ซื้อเอาไปขายเอากำไร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่นายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย และบังอาจร่วมกันนำสุกร 56 ตัวออกจากเขตท้องที่ตำบลห้วยแก้ง อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร มายังเขตท้องที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร โดยจะนำไปขายในท้องที่จังหวัดร้อยเอ็ด มิใช่เพื่อนำไปเลี้ยง โดยมิได้นำสุกรดังกล่าวไปให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ตรวจทำลายเชื้อโรคระบาดตามระเบียบของกรมปศุสัตว์เสียก่อน และไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ประจำท้องที่ให้นำสุกรนั้นไปยังท้องที่ต่างจังหวัดได้ตามกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยสุกรที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 มาตรา 7,21,34,42,49 กฎกระทรวงเกษตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2499 และกฎกระทรวงเกษตร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2499 ออกตามความในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 มาตรา 7,21,42 ฐานทำการค้าสัตว์ไม่รับอนุญาต กฎกระทรวงเกษตร (ฉบับที่ 3) และ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2499 ปรับ 600 บาท ลดกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงปรับ 300 บาท การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 มาตรา 34, 49 ยกฟ้องในข้อหาฐานนี้

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า มีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 มาตรา 34, 49 กฎกระทรวงเกษตร(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2499 อีกกระทงหนึ่ง ปรับ 600 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง ปรับ 300 บาท นอกจากที่แก้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ยกฟ้องข้อหาฐานนำสัตว์ข้ามเขตจังหวัดโดยไม่รับอนุญาต

ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำฟ้องและคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำสุกร 56 ตัวออกจากเขตท้องที่ตำบลห้วยแก้ง อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร มายังเขตท้องที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร โดยจะนำไปขายในท้องที่จังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อการค้า และจำเลยมิได้นำสุกรทั้ง 56 ตัวนั้นไปให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ตรวจและทำลายเชื้อโรคระบาดสัตว์ตามระเบียบของกรมปศุสัตว์และยังไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ประจำท้องที่ให้นำสุกร 56 ตัวไปยังต่างจังหวัดได้ตามกฎหมาย

ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ มาตรา 34 วรรคแรก บัญญัติว่า”ผู้ใดนำ…..สุกร ฯลฯ ไปยังท้องที่ต่างจังหวัด ต้องได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ประจำท้องที่” เมื่อปรากฏว่าจำเลยมุ่งหน้าจะนำสุกรจากจังหวัดยโสธรไปขายที่จังหวัดร้อยเอ็ด แต่ขณะที่จำเลยทั้งสองถูกจับกุมพร้อมด้วยสุกรนั้น จำเลยทั้งสองยังอยู่ในท้องที่ของจังหวัดยโสธร จำเลยยังไม่ได้นำสุกรไปยังท้องที่ต่างจังหวัดตามบทบัญญัติมาตรานี้ ดังนี้ จะถือว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรานี้ไม่ได้

อนึ่ง การที่จำเลยไม่ได้ยื่นคำขอต่อสัตวแพทย์ประจำท้องที่ให้มีการตรวจและทำลายเชื้อโรคระบาดสุกรตามระเบียบของกรมปศุสัตว์เพื่อพิจารณาสั่งตามกฎหมาย และกฎกระทรวงเกษตร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2499ก็ดี การที่จำเลยยังไม่ได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ประจำท้องที่ให้นำสุกรไปยังท้องที่ต่างจังหวัดตามกฎหมายและกฎกระทรวงฉบับเดียวกันนี้ก็ดี หาทำให้จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์พ.ศ. 2499 มาตรา 34 และมาตรา 49 และกฎกระทรวงเกษตร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2499 ไม่

พิพากษาแก้ เป็นยกฟ้องในข้อหาฐานนำสัตว์ข้ามเขตจังหวัดโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share