คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2065/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การให้คำตักเตือนว่าหนังสือพิมพ์ได้โฆษณาอันอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เจ้าพนักงานการพิมพ์ไม่จำต้องระบุชื่อเรื่อง และเมื่อหนังสือพิมพ์ไม่สังวรณ์ ยังโฆษณาเรื่องที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอีก ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเดียวกันหรือคนละเรื่องกับที่ได้มีการตักเตือนก็ตาม เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจสั่งให้หนังสือพิมพ์นั้นเสนอเรื่องหรือข้อความไปให้ตรวจข่าวก่อนที่จะโฆษณาได้โดยชอบ
เมื่อมีกรณีพิพาทกันว่าเจ้าพนักงานการพิมพ์จะมีและใช้อำนาจโดยชอบสั่งให้ตรวจข่าวตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ ว่าหนังสือพิมพ์ได้ลงเรื่องขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่นั้น คู่กรณีจะเสนอคดีต่อศาลให้วินิจฉัยชี้ขาดก็ได้
เดิมโจทก์ฟ้องว่าจำเลยสั่งให้ตรวจข่าวหนังสือพิมพ์โจทก์โดยไม่ชอบ ขอให้ศาลบังคับเพิกถอนคำสั่งของจำเลยเสียและให้ใช้ค่าเสียหาย ต่อมาโจทก์สละคำขอให้ใช้ค่าเสียหายเสีย และแม้จะปรากฏว่ากำหนดเวลาตรวจข่าวตามคำสั่งนั้นได้ผ่านล่วงเลยไปแล้วก็ตาม ศาลจะยังคงวินิจฉัยและพิพากษาในประเด็นคำฟ้องที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ตรวจข่าวต่อไปก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้มีคำสั่งว่าหนังสือพิมพ์แนวหน้าของโจทก์ได้ลงเรื่องขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หนังสือพิมพ์ของโจทก์เคยถูกสั่งตรวจข่าวมาแล้วมิได้สังวรณ์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 36(2) แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 จึงให้ส่งข้อความที่จะโฆษณาไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจ ซึ่งโจทก์เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย 1,000 บาท จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยเสียและให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย

จำเลยให้การว่าจำเลยได้สั่งไปโดยชอบตามมาตรา 36(2) แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 แล้ว การที่จำเลยในฐานะเจ้าพนักงานการพิมพ์เห็นว่าคำโฆษณาในหนังสือพิมพ์โจทก์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยนั้นเป็นอำนาจของจำเลยโดยเฉพาะ ศาลจะรับฟ้องไว้ไม่ได้ จำเลยปฏิบัติไปตามหน้าที่ต่อกฎหมายไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายต่อโจทก์

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีมีประเด็น 3 ข้อ คือ

1. มีการโฆษณาขัดต่อความสงบเรียบร้อยจริงหรือไม่

2. จำเลยได้เตือนก่อนสั่งตรวจข่าวหรือไม่

3. โจทก์เสียหายเพียงไรหรือไม่

ประเด็นข้อ 3 โจทก์แถลงว่ายอมสละ ไม่เรียกร้อง จึงระงับไป

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ถอนคำสั่งให้ตรวจข่าวเสีย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าประเด็นหารือบทมีข้อเดียวที่เกี่ยวกับประเด็นข้อ 2 และเห็นว่าจำเลยมีอำนาจสั่งได้โดยถูกต้องตามเงื่อนไขในกฎหมายแล้ว จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลอุทธรณ์ว่าประเด็นคงมีอยู่ข้อเดียวว่าตามกฎหมายจำเลยจะสั่งตรวจข่าวเรื่องใดต้องตักเตือนโจทก์ก่อนทุกครั้งในเรื่องนั้นหรือไม่ และจำเลยจะมีอำนาจสั่งตรวจข่าวได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ขัดขืนลงเรื่องเดียวกันซ้ำอีกเท่านั้นหรือมิใช่ศาลฎีกาเห็นว่าการตักเตือนไม่ต้องระบุเรื่องเพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติดังนั้น เมื่อตักเตือนแล้วยังขืนโฆษณาข้อความใดอันเป็นจุดประสงค์หรือแนวความคิดเห็นซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอีกก็ได้ชื่อว่าไม่สังวรณ์ เรื่องที่โฆษณาจะเป็นเรื่องเดียวกันหรือคนละเรื่องกับเหตุที่ให้มีการตักเตือนก็ตามเจ้าพนักงานอาจสั่งให้ตรวจข่าวได้ ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share