แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความในวรรคสอง ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ นั้น สืบเนื่องมาจากความในวรรคแรก คือ ถ้าการลักทรัพย์ดังที่ระบุไว้ในวรรคแรกนั้นกระทำในสถานที่ดังที่ระบุไว้ในวรรคสองผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษหนักขึ้น
ฟ้องว่า จำเลยลักถ้วยเคลือบอย่างเก่าซึ่งฝังอยู่ที่ผนังโบสถ์ซึ่งเป็นวัตถุในทางศาสนา อันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน ย่อมมีความหมายแต่เพียงว่า โบสถ์นั้นเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน แม้จะเป็นความจริงเช่นนั้น แต่ถ้วยเคลือบอย่างเก่าซึ่งฝังอยู่ที่ผนังโบสถ์ก็เป็นวัตถุที่เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่วัตถุในทางศาสนาซึ่งเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนไปด้วย จำเลยลักเอาถ้วยเคลือบนั้นไปจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 ทวิ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2513 จำเลยมีมีดติดตัวเป็นอาวุธบังอาจลักเอาถ้วยเคลือบอย่างเก่าของวัดตะพงในซึ่งฝังอยู่ที่ผนังโบสถ์วัดตะพงใน 1 ใบราคา 50 บาท อันเป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์วัดตะพงในซึ่งเป็นวัตถุในทางศาสนา อันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนและอยู่ในความดูแลรักษาของนายสาน บุญคุณ และพระครูพิทักษ์บุรเขตไปโดยทุจริต เหตุเกิดที่วัดตะพงใน ตำบลตะพงในอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) มาตรา 335 ทวิ วรรค 2 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2512 มาตรา 3
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(7), 335 ทวิ วรรค 2 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2512 มาตรา 3 จำคุก 1 ปี ปรานีลดโทษที่รับสารภาพมีประโยชน์แก่การพิจารณาตามมาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ส่วนที่ขอให้ลงโทษตามมาตรา 335 ทวิ วรรค 2 นั้น กรณีไม่เข้าตามมาตรานี้ จึงให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 ทวิ วรรค 2 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2512 มาตรา 3 ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรานี้ด้วย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ถ้วยเคลือบอย่างเก่าซึ่งฝังอยู่ในผนังโบสถ์ไม่ใช่วัตถุในทางศาสนาอันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนถึงแม้จำเลยจะรับสารภาพ เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลไม่ลงโทษจำเลยในข้อที่เห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดนั้นได้ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมาว่า จำเลยต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 ทวิ วรรค 2 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2512 มาตรา 3 ด้วย เพราะโบสถ์เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อความในตัวบทมาตรา 335 ทวิ ความในวรรคแรกระบุถึงทรัพย์ใดบ้าง ที่ผู้ลักทรัพย์นั้น ๆ จะต้องมีความผิดต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ ส่วนความในวรรค 2 นั้น สืบเนื่องมาจากความในวรรคแรก คือ ถ้าการลักทรัพย์ดังที่ระบุไว้ในวรรคแรกนั้นกระทำในสถานที่ดังที่ระบุไว้ในวรรค 2 ผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษหนักขึ้น
โบสถ์เป็นอาคารสถานที่อันเป็นส่วนหนึ่งของวัด หรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาดังที่กล่าวไว้ในวรรค 2 แห่งมาตรา 335 ทวิ เท่านั้นหาใช่ทรัพย์ที่ระบุไว้ในวรรคแรกไม่ ดังนั้น การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามมาตรา 335 ทวิ วรรค 2 ก็ต่อเมื่อทรัพย์ที่จำเลยลักนั้นเป็นวัตถุในทางศาสนาซึ่งเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของวัตถุดังกล่าวคำบรรยายฟ้องของโจทก์มีความหมายแต่เพียงว่า โบสถ์วัดตะพงในเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน แม้จะเป็นความจริงเช่นนั้น แต่ถ้วยเคลือบอย่างเก่าซึ่งฝังอยู่ที่ผนังโบสถ์ก็เป็นวัตถุที่เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่วัตถุในทางศาสนาซึ่งเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนไปด้วย คงเป็นแต่เพียงวัตถุซึ่งเป็นเครื่องประดับผนังโบสถ์เท่านั้น เมื่อถ้วยเคลือบนี้ไม่ใช่วัตถุในทางศาสนาซึ่งเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนเสียแล้วแม้จำเลยจะลักเอาไปจากโบสถ์อันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนการกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2512 มาตรา 3 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน