คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยได้ที่ดินมาโดยบิดาจำเลยยกให้ แม้จะเป็นการยกให้ในระหว่างสมรสแต่เมื่อการยกให้มิได้ทำเป็นหนังสือระบุว่าให้เป็นสินสมรส ที่ดินจึงตกเป็นสินส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1471(3) ส่วนที่มาตรา 1474 วรรคสอง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรสนั้น จะต้องเป็นกรณีที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินเป็นสินส่วนตัวโดยแจ้งชัดปราศจากข้อสงสัยแล้ว จึงไม่อาจนำอ้างมาใช้บังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยต่อมาปี 2529 จำเลยได้อุปการะเลี้ยงดูยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาและจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปอยู่กับภริยาใหม่เกินกว่า 1 ปี ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามสมควร ระหว่างที่อยู่กินกับจำเลยมีสินสมรสปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินสมรสเอกสารท้ายฟ้องรวมเป็นเงินประมาณ 174,700 บาท ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนและให้จำเลยแบ่งสินสมรสรวมทั้งแบ่งแยกและโอนที่ดินตามบัญชีทรัพย์สินสมรสเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ครอบครองให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ยอมก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน กับให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์เอกสารท้ายฟ้องรายการที่ 4 ไม่มี ส่วนทรัพย์สินอื่นนอกจากนี้ก็มิใช่สินสมรสแต่เป็นทรัพย์ที่บิดาจำเลยยกให้เป็นสินส่วนตัวของจำเลย และจำเลยได้ขายสินส่วนตัวซื้อมา โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยแบ่งสินสมรสตามบัญชีทรัพย์สินสมรสเอกสารท้ายฟ้องรายการที่ 1ถึงที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะทรัพย์รายการที่ 5 ถึงที่ 10 หากจำเลยไม่แบ่งให้โจทก์ ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในชั้นนี้คงมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาแต่เพียงว่า ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.10 เป็นสินสมรสจริงหรือไม่ ข้อนี้โจทก์นำสืบว่าทั้งโจทก์และจำเลยได้ร่วมกันบุกเบิกเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน
จำเลยนำสืบว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมี ส.ค.1 แล้วเดิมที่ดินดังกล่าวเป็นของนายคำพา พาทอง บิดาจำเลย ต่อมาในปี 2529บิดาจำเลยยกที่ดินพิพาทให้จำเลยกับน้องชาย จำเลยได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ระหว่างที่อยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์นำสืบว่า ที่ดินพิพาทได้มาโดยโจทก์จำเลยร่วมกันบุกเบิกเข้าทำประโยชน์ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันนั้น กลับได้ความจากนายส่วน ปัญญาสงค์ พยานโจทก์เองว่าที่ดินพิพาทเดิมบิดาจำเลยเป็นผู้ทำประโยชน์ ต่อมาจำเลยกับน้องชายเข้าทำประโยชน์ต่อเข้าใจว่าบิดาจำเลยยกให้ ซึ่งความข้อนี้จึงเจือสมกับข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบ เพราะปรากฏตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.10 ว่า ที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยกับน้องชายถือสิทธิร่วมกัน ต่อมาจึงได้มีการแบ่งในนามเดิมให้กับน้องชายจำเลยไปปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนในเอกสารหมาย จ.10 ศาลฎีกาเห็นว่านอกจากพยานโจทก์จะเบิกความเจือสมกับพยานจำเลยแล้ว พยานจำเลยก็สอดคล้องรับกันกับเอกสาร จึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยได้ที่ดินพิพาทมาโดยบิดาจำเลยยกให้ แม้จะเป็นการยกให้ในระหว่างสมรสแต่เมื่อการยกให้มิได้ทำเป็นหนังสือระบุว่าให้เป็นสินสมรสที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสินส่วนตัวตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) ที่โจทก์ฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474 วรรคสอง นั้น เห็นว่าตามบทบัญญัติที่โจทก์อ้างต้องเป็นกรณีที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส แต่ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวโดยแจ้งชัดปราศจากข้อสงสัยจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตามที่โจทก์อ้างมาใช้บังคับได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาต้องกันมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share