คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2061/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีอาญา ศาลพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส คดีถึงที่สุดคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2, ที่ 3 ซึ่งมิได้ถูกฟ้องคดีอาญานั้นด้วย (อ้างฎีกาที่338/2516) จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยังอาจยกข้อต่อสู้และนำสืบในคดีแพ่งได้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายทำละเมิดต่อโจทก์ หากแต่โจทก์ที่ 2 เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทเอง หาได้ถูกกฎหมายปิดปากมิให้นำสืบโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นดังคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 1 ไม่การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็เพราะศาลชั้นต้นมิได้บังคับให้จำเลยที่ 2 ที่ 3ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3ก็ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นฝ่ายประมาทแต่ฝ่ายเดียว คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงเป็นการตั้งประเด็นในชั้นอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นฝ่ายทำละเมิด ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ในเมื่อคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 2 ที่ 3 ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติว่าจำเลยที่1 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่ ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะฟังข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าโจทก์ที่ 2หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทขับรถยนต์โดยประมาทเสียก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นนายจ้างตามทางการที่จ้าง โดยประมาทปราศจากความระมัดระวังตัดหน้ารถบรรทุกน้ำมันของโจทก์ที่ 1 โดยมีโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขับเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกัน รถของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายและโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายถึงสาหัส ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 76,892.75 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 4,640 บาท ฯลฯ

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แต่เป็นลูกจ้างของผู้อื่นขับรถให้จำเลยที่ 2 เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 2 เองที่ขับรถเข้าชนท้ายรถจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ที่ 2 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้รถของจำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันและแทนกันใช้ค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 34,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย

โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า การที่รถของจำเลยที่ 2 ชนกับรถของโจทก์ที่ 1 เป็นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1

ชั้นพิจารณา โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกบริษัทประมวลสรรพกิจจำกัดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 โอนทางทะเบียนให้รถของจำเลยที่ 2 เป็นชื่อจำเลยร่วมเป็นเจ้าของเพื่อให้ใช้รถเข้าร่วมในกิจการขนส่งของจำเลยร่วม จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นลูกจ้าง กระทำการตามที่จ้างของจำเลยร่วมด้วย

ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เรียกบริษัทประมวลสรรพกิจ จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ และให้เรียกบริษัทจำเลยร่วมเป็นจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้บริษัทโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 48,150 บาท และให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 3,200 บาท และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนศาลชั้นต้นกำหนด

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อคดีเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้างแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างก็ต้องรับผิดร่วมด้วย จะแยกความรับผิดต่างกันไม่ได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้โจทก์

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลย ที่ 2และที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุละเมิดคดีนี้ศาลจังหวัดนครราชสีมาได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 796/2512 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหาว่าขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสมีกำหนด 6 เดือน คดีถึงที่สุดแล้วศาลฎีกาเห็นว่าคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้ถูกฟ้องคดีอาญานั้นด้วยเทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 338/2516 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังอาจยกข้อต่อสู้และนำสืบในคดีนี้ได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายทำละเมิดต่อโจทก์ หากแต่โจทก์ที่ 2 เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทเองซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องวินิจฉัยก่อนปัญหาเรื่องความรับผิดในค่าสินไหมทดแทน ศาลชั้นต้นจึงรับฟังข้อเท็จจริงสำหรับคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ว่าจำเลยที่ 1 และโจทก์ต่างขับรถโดยประมาทด้วยกัน และโจทก์ที่ 2 เป็นฝ่ายประมาทมากกว่า ไม่ถูกกฎหมายปิดปากมิให้นำสืบโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นดังคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็เพราะศาลชั้นต้นมิได้บังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 2 เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทแต่ฝ่ายเดียว คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการตั้งประเด็นในชั้นอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นฝ่ายทำละเมิดศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยอาศัยบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425ในเมื่อคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่ ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะฟังข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าโจทก์ที่ 2 หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถยนต์โดยประมาทเสียก่อน

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามประเด็นแห่งคดีที่ได้วินิจฉัยข้างต้น

Share