แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำซัดทอดระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกัน ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำให้การนี้เสียทีเดียว รับฟังได้แต่ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง เพียงแต่คำซัดทอดระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดเพียงอย่างเดียวเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักนัอย ต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบการพิจารณาความผิดด้วย เมื่อพยานโจทก์มีเพียงคำซัดทอดระหว่างผู้กระทำความผิดเพียงปากเดียวไม่มีพยานอื่นมาสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 335, 336 ทวิ ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 119,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 4
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (3) (4) (7) (12) วรรคสองและวรรคสาม (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทวรรคสอง) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์ที่เป็นเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 คนละ 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายหลายคนลักชิ้นส่วนรถแทรกเตอร์ รวม 16 รายการ เป็นเงิน 119,000 บาท ของนายสิทธิชัย ผู้เสียหายผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมไป มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ พยานโจทก์จึงมีแต่เพียงคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดเพียงปากเดียวไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ลำพังแต่เพียงคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดเพียงอย่างเดียวและจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธตลอดมา จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 5 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดจึงเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 5 ที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2