แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับปรุงราคาค่าก่อสร้างสถานที่ราชการเฉพาะงานก่อสร้างที่ค้างอยู่ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน2517 เพื่อเป็นการชดเชยค่าก่อสร้างให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างเนื่องจากเกิดวิกฤติกาลน้ำมันในปี พ.ศ.2517โดยให้คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงระบบก่อสร้างสถานที่ราชการและถาวรวัตถุของประเทศมีอำนาจวินิจฉัยข้อหารือจากส่วนราชการได้ตามที่เห็นสมควร และคณะกรรมการดังกล่าวได้ให้ความหมายงานส่วนที่ยังค้างอยู่ตามมติของคณะรัฐมนตรีว่าหมายถึงงวดงานที่ส่งมอบภายหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2517และให้ถือเอาวันที่ผู้รับเหมาส่งมอบงานจริง ดังนั้นผู้รับเหมาก่อสร้างที่จะได้รับชดเชยค่าก่อสร้างจะต้องมีงวดงานที่ส่งมอบจริงภายหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2517
งานงวดที่โจทก์ขอเงินค่าชดเชยนี้ โจทก์มีหนังสือส่งมอบงานก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2517 แม้การส่งมอบงานงวดดังกล่าวคณะกรรมการยังไม่รับมอบเพราะงานยังไม่แล้วเสร็จและมาแล้วเสร็จภายหลังวันที่ 24 มิถุนายน2517 ก็ถือไม่ได้ว่ามีการส่งมอบงานภายหลังวันที่ 24มิถุนายน 2517 และการที่โจทก์ได้รับอนุมัติให้ต่ออายุสัญญาก็ถือได้เพียงว่าโจทก์มิได้ทำงานล่าช้ากว่ากำหนดเท่านั้น แต่การส่งงวดงานตามสัญญาก็ต้องถือตามเจตนาของโจทก์ที่ได้ส่งไว้แล้วก่อนวันที่ 24 มิถุนายน2517 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าก่อสร้าง
จำเลยที่ 1 เป็นเพียงคู่สัญญากับโจทก์และเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องเงินชดเชยค่าก่อสร้างตามที่กำหนดไว้ในมติของคณะรัฐมนตรีแล้วเสนอเรื่องเพื่อขอรับงบประมาณเท่านั้น มิได้มีอำนาจอนุมัติดังนั้น แม้จำเลยที่ 1จะได้แจ้งโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 อนุมัติในหลักการที่โจทก์ขอรับเงินชดเชยค่าก่อสร้าง ก็ไม่ทำให้โจทก์เกิดสิทธิเรียกร้องเงินค่าชดเชยดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ก่อสร้างบ้านพักโดยกำหนดส่งมอบงานรวม 6 งวด โจทก์ส่งมอบงานงวดที่ 1 ถึง 4 เรียบร้อยแล้ว เมื่อโจทก์เสนอส่งมอบงานงวดที่ 5 และ 6 คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจแล้วว่างานยังไม่เสร็จเรียบร้อยยังไม่ยอมรับ โจทก์ได้ทำงานต่อจนเสร็จเรียบร้อย โจทก์มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามมติของคณะรัฐมนตรี และจำเลยที่ 1 มีคำสั่งอนุมัติ แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 กลับปฏิเสธการจ่ายเงินดังกล่าวโดยอ้างว่าสำนักงบประมาณไม่อนุมัติ จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินชดเชยค่าก่อสร้างแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามมติของคณะรัฐมนตรี เพราะโจทก์ส่งมอบงานงวดที่ 5 และ6 ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2517 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินชดเชยตามมติของคณะรัฐมนตรี
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เงินชดเชยค่าก่อสร้างนี้ มิใช่หนี้ซึ่งเกิดขึ้นตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.2 โจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าก่อสร้างหรือไม่ย่อมเป็นไปตามกฎเกณฑ์ตามมติของคณะรัฐมนตรี หนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ สร.0203/ว.16 เรื่อง การชดเชยเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างให้ผู้รับเหมา คณะรัฐมนตรีมีมติได้ความว่า สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่ยังมีงานก่อสร้างค้างอยู่แต่วันที่ 25 มิถุนายน 2517 จึงจะได้รับการปรับปรุงราคาค่าก่อสร้างและมีมติให้คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงระบบการก่อสร้างสถานที่ราชการและถาวรวัตถุของประเทศมีอำนาจวินิจฉัยข้อหารือจากส่วนราชการได้ตามที่เห็นสมควร คณะกรรมการดังกล่าวได้ให้ความหมายงานส่วนที่ยังค้างอยู่ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไว้ตามหนังสือที่ อก.0201/3815ว่า ให้หมายความว่างวดงานที่ส่งมอบภายหลังวันที่ 24 มิถุนายน2517 และคณะกรรมการดังกล่าวยังตอบข้อหารือของจำเลยที่ 1 อีกว่า งวดงานที่ส่งมอบภายหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2517 ให้ถือเอาวันที่ผู้รับเหมาส่งมอบงานจริง ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.4 ดังนั้นผู้รับเหมาก่อสร้างที่จะได้รับชดเชยค่าก่อสร้างในการปรับปรุงราคาค่าก่อสร้าง จะต้องมีงวดงานที่ส่งมอบจริงภายหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2517 งานงวดที่ 5 งวดที่ 6 ที่โจทก์ขอเงินค่าชดเชยนี้โจทก์มีหนังสือส่งมอบและขอรับเงินเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2517 และวันที่ 22 เมษายน 2517 ตามลำดับตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 จึงเป็นการส่งมอบงวดงานทั้งสองจริงแต่วันดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่มีงวดงานที่ส่งมอบภายหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2517 อีกแม้การส่งมอบงานทั้งสองงวดนั้น คณะกรรมการตรวจการจ้างของจำเลยยังไม่รับมอบ เพราะงานยังไม่แล้วเสร็จตามงวดของสัญญา โจทก์ต้องทำงานต่อไป งานงวดที่ 5 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน2517 งวดที่ 6 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2517 และคณะกรรมการตรวจการจ้างรับมอบงานทั้งสองงวดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2517 ก็เป็นเพียงโจทก์ทำงานตามงวดที่ได้ส่งไว้แล้วให้เสร็จถูกต้องตามสัญญาเท่านั้น ถือไม่ได้ว่ามีการส่งมอบงานขึ้นใหม่ภายหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2517 และการที่โจทก์ทำงานเสร็จล่าช้าจากกำหนดตามสัญญาจึงถูกปรับ 104 วัน โจทก์ขอต่ออายุสัญญาและได้รับอนุมัติให้ต่ออายุสัญญาได้ 104 วัน ก็ถือได้เพียงว่าโจทก์มิได้ทำงานล่าช้าไปกว่ากำหนดตามสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ต้องถูกปรับเท่านั้นแต่การส่งงานตามงวดก็ต้องถือตามเจตนาของโจทก์ที่ได้ส่งไว้ตามเอกสารหมาย ล.1 ล.2 โจทก์จึงส่งมอบงานงวดที่ 5 งวดที่ 6 ไว้แล้วก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2517 คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงระบบการก่อสร้างสถานที่ราชการและถาวรวัตถุของประเทศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้มีอำนาจวินิจฉัยข้อหารือจากส่วนราชการได้ตามที่เห็นสมควรก็ได้พิจารณาเรื่องราวหลักฐานเรื่องนี้ ตามที่สำนักงานงบประมาณส่งไปครั้งหนึ่ง และตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีส่งไปอีกครั้งหนึ่ง คณะกรรมการดังกล่าวแล้วมีความเห็นทั้งสองครั้งว่าโจทก์ได้ส่งมอบงานก่อนกำหนดที่คณะรัฐมนตรีวางไว้ คือก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2517 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าก่อสร้างเช่นเดียวกัน
ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย จ.22 ว่า จำเลยที่ 1 อนุมัติในหลักการที่โจทก์ขอรับเงินชดเชยค่าก่อสร้าง ถ้าโจทก์พอใจในจำนวนเงินค่าชดเชย ก็ให้ยืนยันว่าจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายและผลประโยชน์อีก และโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันดังกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว แต่เห็นว่าเงินชดเชยค่าก่อสร้างนี้มิใช่หนี้ที่เกิดจากสัญญาจ้างเหมา โจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าก่อสร้างหรือไม่ย่อมเป็นไปตามกฎเกณฑ์ตามมติของคณะรัฐมนตรีหากมีข้อสงสัยในทางปฏิบัติ คณะรัฐมนตรีมอบให้คณะกรรมการฯ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นมีอำนาจวินิจฉัยดังได้กล่าวไว้แล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นคู่สัญญาเป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการในเรื่องเงินชดเชยค่าก่อสร้างตามที่กำหนดไว้ในมติของคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือที่ สร.0203/ว.16 ข้อ 1 แล้ว เสนอเรื่องเพื่อขอรับงบประมาณเท่านั้นดังจะเห็นได้จากที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ปฏิบัติ ตามเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 4.4 จำเลยที่ 1 มิได้มีอำนาจอนุมัติ การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแล้วแม้โจทก์สนองรับ ย่อมไม่ทำให้โจทก์เกิดสิทธิเรียกร้องเงินค่าชดเชยจากจำเลยทั้งสองได้
พิพากษายืน