แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในข้อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยที่ว่าจำเลยมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาได้ทันที โดยไม่ต้องให้เหตุผลในการบอกเลิกนั้น ต้องปรากฏว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่เหมาะสมในระหว่างการทดลองงานหกเดือนแรกของการว่าจ้างเมื่อโจทก์ยังไม่ได้เริ่มทดลองงาน จำเลยหามีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยอาศัยข้อสัญญาดังกล่าวได้ไม่
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่เพียงใด ปรากฏว่าตามเอกสารหมาย จ.1 พร้อมคำแปล ซึ่งโจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริง ในเอกสารนั้นมีความว่า จำเลยเสนองานแก่โจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายขายในแผนกเกษตรกรรมในอัตราเงินเดือนขั้นต้น 15,000 บาทต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2519 เพิ่มค่าพาหนะ 1,500 บาทต่อเดือน สำหรับหกเดือนแรกของการทำงานเป็นการว่าจ้างในระหว่างการทดลองงาน ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิบอกเลิกการทำงานได้โดยบอกกล่าวล่วงหน้าหนึ่งวัน ถ้าพิจารณาเห็นว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนและทั้งสองฝ่ายไม่ต้องให้เหตุผลในการบอกเลิก โดยให้โจทก์ลงชื่อและคืนสำเนาหนังสือดังกล่าวเป็นเครื่องหมายในการยอมรับของโจทก์ หนังสือฉบับนี้ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2519 โจทก์ลงชื่อและคืนหนังสือไปยังจำเลยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2519 โดยบันทึกข้อความไปด้วยว่า โจทก์ยอมรับการว่าจ้างของจำเลย และพร้อมที่จะรับงานกับจำเลย ตามเอกสารหมาย จ.1 นี้แสดงว่าคู่กรณีมีการแสดงเจตนาตรงกันมีผลผูกพันเป็นสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยแล้ว สำหรับข้อสัญญาที่ว่าจำเลยมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องให้เหตุผลในการบอกเลิกนั้น ต้องปรากฏว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่เหมาะสมในระหว่างการทดลองงานหกเดือนแรกของการว่าจ้าง เมื่อโจทก์ยังไม่ได้เริ่มทดลองงาน จำเลยหามีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยอาศัยข้อสัญญาดังกล่าวได้ไม่ ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ไปทำงานตามวันที่กำหนดจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น ก็ได้ความว่าก่อนวันถึงกำหนดวันทำงานโจทก์ได้รับแจ้งด้วยวาจาจากนายสรยุทธซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของโจทก์ในการรับสมัครงานว่าจำเลยจะไม่ยอมรับโจทก์เข้าทำงานและจะแจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งต่อมาจำเลยก็แจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบ ฉะนั้น การที่โจทก์ไม่ไปทำงานจึงหาใช่ความผิดของโจทก์ไม่ ส่วนข้ออ้างที่ว่าจำเลยได้รับรายงานผลงานจากสถานที่ทำงานของโจทก์ที่เคยทำงานมาไม่เป็นที่พอใจจำเลยก็ดี หรือรายงานเกี่ยวกับสถานศึกษาในการศึกษาของโจทก์ไม่ตรงตามที่จำเลยต้องการก็ดี เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องตรวจสอบก่อนที่จะมีการตกลงยอมรับว่าจ้างโจทก์ เมื่อตกลงยอมรับว่าจ้างโจทก์แล้ว จำเลยจะนำเหตุดังกล่าวขึ้นมาอ้างโดยมิได้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์หลอกลวงหรือปิดบังทำให้จำเลยเข้าใจผิดหาได้ไม่ ตามข้อวินิจฉัยดังกล่าวเห็นได้ว่าโจทก์ยังมิได้กระทำการอันเป็นการผิดสัญญาและจำเลยก็ยังไม่มีสิทธิโดยชอบอย่างใดที่จะบอกเลิกสัญญาจ้างได้ การที่จำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์โดยไม่ชอบเช่นนี้ จึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนในเรื่องจำนวนค่าเสียหายโจทก์นำสืบว่าว่างงานเป็นเวลาหลายเดือนนั้นก็คงมีตัวโจทก์ปากเดียวเบิกความลอย ๆ ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์เองว่าต่อมาโจทก์เข้าทำงานในบริษัทอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทย จำกัด ซึ่งโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ ค่าเสียหายของโจทก์จึงยังฟังไม่ได้ว่ามีถึงตามจำนวนที่กล่าวในฟ้อง เมื่อพิเคราะห์ถึงค่าเสียหายตามพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดีแล้วเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ในการที่จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญานี้ เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความสามศาลเป็นเงิน 1,800 บาท”