คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2058/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 121 จำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดโดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 76 กึ่งหนึ่ง จำคุก 9 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน เขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้จำเลยจะยื่นอุทธรณ์โดยมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ก็ตาม แต่การอนุญาตดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 122 ซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 121 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นในอันที่จะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 6 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 33 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กึ่งหนึ่ง จำคุก 9 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันพิพากษาริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121 บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใด… ฉะนั้น จำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดโดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้หรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวีธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา ซึ่งเมื่อนำพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กึ่งหนึ่ง จำคุก 9 เดือนอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน เขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้จำเลยจะยื่นอุทธรณ์โดยมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ก็ตาม แต่การอนุญาตดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 122 ซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นในอันที่จะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรี การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบพระราชบัญญัติตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอีกต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และยกฎีกาของจำลย

Share