แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 กับ ส. เข้าไปในร้านของผู้เสียหายส. พูดกับผู้เสียหายว่าขอเงิน 100 บาท จะเอาไปซ่อมปืน ผู้เสียหายตอบว่าไม่มี ส. พูดว่าให้คิดให้ดี ๆ ชีวิตผู้เสียหายสำคัญกว่า พวกของ ส. มีมาก และชี้ให้ดูพวกที่ยืนอยู่ที่ถนนนอกร้านประมาณ 20 คน พอดีมีคนเข้ามาในร้าน ผู้เสียหายจึงถือโอกาสหลบหนีไป ต่อมาอีก 2 วัน จำเลยที่ 1 ถือจดหมายของ ส. มาอ่านให้ผู้เสียหายฟังว่าต้องการเงิน 500 บาทผู้เสียหายบอกว่าไม่มีเงิน จำเลยที่ 1 ว่า เย็นนี้รู้กัน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไปที่ร้านผู้เสียหายอีกและถูกตำรวจจับได้ การที่ผู้เสียหายตอบจำเลยที่ 1 ว่าไม่มีเงินย่อมเห็นได้ชัดว่าเป็นคำตอบปฏิเสธว่าไม่ยอมให้เงินหรือยอมรับว่าจะให้เงินแก่จำเลยที่ 1 กับพวกตามที่จำเลยที่ 1 กับพวกขู่เข็ญข่มขืนใจ การกระทำของจำเลยที่ 1 อยู่ในขั้นพยายามกระทำความผิดฐานกรรโชก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันกรรโชกผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337, 83
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337, 83 ให้จำคุก 2 ปี คำรับไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ไม่ลดโทษให้ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงพยายามกรรโชกและคำรับเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337, 80 จำคุก 1 ปี 4 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 8 เดือน
โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ครบองค์ความผิดฐานกรรโชกแล้ว หาใช่พยายามกรรโชกไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 กับ ส. เข้าไปในร้านของผู้เสียหายพวกของจำเลยประมาณ 20 คน อยู่นอกร้าน ส. พูดกับผู้เสียหายว่า ขอเงิน 100 บาท ผู้เสียหายตอบว่าไม่มี ส. พูดว่าต้องการเอาเงินไปซ่อมปืน ผู้เสียหายตอบว่าไม่มี ส. พูดว่า ให้คิดให้ดี ๆ ชีวิตผู้เสียหายสำคัญกว่า พวก ส. มีมาก และชี้ให้ดูพวกยืนที่ถนน พอดีมีคนเข้ามาในร้าน ผู้เสียหายถือโอกาสหลบหนีไปและต้องคอยหลบจำเลยกับพวก ต่อมาอีก 2 วัน จำเลยที่ 1 ถือจดหมาย ส. มาอ่านให้ผู้เสียหายฟังว่าต้องการเงิน 500 บาท ผู้เสียหายบอกว่าไม่มีเงิน จำเลยที่ 1 ว่า เย็นนี้รู้กัน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไปที่ร้านผู้เสียหายอีก และถูกตำรวจจับได้ ผู้เสียหายว่าไม่เคยคิดว่าจะให้เงินจำเลยกับพวกจึงตอบไปว่าไม่มีเงิน ศาลฎีกาเห็นว่าที่ผู้เสียหายตอบจำเลยที่ 1 ว่า ไม่มีเงิน ย่อมเห็นได้ชัดว่าเป็นคำตอบปฏิเสธว่าผู้เสียหายไม่ยอมให้เงินหรือยอมรับว่าจะให้เงินแก่จำเลยที่ 1 กับพวกตามที่จำเลยที่ 1 กับพวกขู่เข็ญข่มขืนใจเรียกร้อง การกระทำของจำเลยที่ 1 อยู่ในชั้นพยายามกระทำความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 ประกอบด้วยมาตรา 80
พิพากษายืน