คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2055/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เช็คพิพาทจำเลยที่ 1 สั่งธนาคารจำเลยที่ 4 ให้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 2 หรือผู้ถือโดยขีดคร่อมและพิมพ์ข้อความว่า A/CPAYEEONLYซึ่งแปลว่า เฉพาะบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น อันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันกับเปลี่ยนมือไม่ได้ไว้ที่ด้านหน้าเช็ค จำเลยที่ 2จะโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์โดยการสลักหลังและส่งมอบในฐานะเป็นผู้รับเงินหรือจะโอนให้แก่โจทก์โดยการส่งมอบในฐานะผู้ถือหาได้ไม่จำเลยที่ 2 จะต้องนำเข้าบัญชีของตน หากจำเลยที่ 2 จะโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ก็ทำได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนหนี้สามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 917 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 989 และการโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 วรรคแรก การที่จำเลยที่ 2 โอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ด้วยวิธีสลักหลังและส่งมอบเท่านั้น การโอนจึงไม่สมบูรณ์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1ผู้สั่งจ่าย ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นเพียงคู่สัญญาของจำเลยที่ 1มิได้เป็นคู่สัญญาของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1แล้วก็ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็ค ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินจำนวน 105,011 บาท แก่จำเลยที่ 2หรือผู้ถือเพื่อชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คดังกล่าวแล้วนำมามอบแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คดังกล่าวโดยชอบ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงินโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่จำเลยที่ 4 ปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 111,397 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทให้จำเลยที่ 2เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2มาคิดบัญชี และหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 2ไม่จัดการ จำเลยที่ 1 จึงได้แจ้งให้จำเลยที่ 4 ระงับการจ่ายเงินเช็คดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ขีดคร่อมและระบุให้เข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะจะโอนให้บุคคลอื่นไม่ได้ โจทก์รับโอนเช็คมาจากจำเลยที่ 3 โดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 บอกห้ามมิให้จำเลยที่ 4จ่ายเงินตามเช็คพิพาท จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจจ่ายเงินตามเช็คให้โจทก์ได้ จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเช็คพิพาทจำเลยที่ 1 สั่งจำเลยที่ 4 ให้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 2หรือผู้ถือโดยได้ขีดคร่อมและพิมพ์ข้อความว่า A/C PAYEE ONLYซึ่งแปลว่าเฉพาะบัญชีผู้รับเงินเท่านั้นไว้ที่ด้านหน้าเช็ค โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 2 ในการสลักหลังเช็คแล้วนำมาแลกเอาเงินสดไปจากโจทก์ ถึงกำหนดสั่งจ่ายแล้วโจทก์ได้นำเช็คพิพาทเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารนครหลวงไทยจำกัด สาขาสำโรง เพื่อเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกมีว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทได้หรือไม่ เห็นว่าเช็คพิพาทจำเลยที่ 1 สั่งธนาคารคือจำเลยที่ 4 ให้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 2 หรือผู้ถือ โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายได้ขีดคร่อมและพิมพ์ข้อความดังกล่าวแล้วอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันกับเปลี่ยนมือไม่ได้ลงไว้ด้านหน้าแห่งเช็ค จำเลยที่ 2 ซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็คและเป็นผู้ถือหรือผู้ทรงเช็คพิพาทในขณะเดียวกันนั้นด้วย ในฐานะที่ได้รับการส่งมอบเช็คพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายโดยตรง ย่อมจะต้องผูกพันตามข้อกำหนดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 917วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 989 บัญญัติไว้ จำเลยที่ 2 จะโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์โดยการสลักหลังและส่งมอบในฐานะเป็นผู้รับเงินหรือจะโอนให้แก่โจทก์โดยการส่งมอบในฐานะผู้ถือหาได้ไม่ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 917 วรรคสอง บัญญัติให้โอนกันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญเพียงวิธีเดียวการโอนโดยการสลักหลังและส่งมอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 917 วรรคแรก และการโอนโดยส่งมอบให้กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918 ล้วนเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ว่าเปลี่ยนมือไม่ได้ทั้งสิ้น ฉะนั้นเมื่อปรากฏเพียงว่าจำเลยที่ 2 โอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ด้วยวิธีสลักหลังและส่งมอบเท่านั้นมิได้โอนให้กันโดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 917 วรรคสอง, 989, 306 วรรคแรกการโอนจึงไม่สมบูรณ์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายจึงฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทหาได้ไม่
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปมีว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4ให้รับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทได้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 4เป็นเพียงคู่สัญญาของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญาของโจทก์เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 4 ให้รับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทเช่นเดียวกันฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีก”
พิพากษายืน

Share