คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องแย้งมีทุนทรัพย์ 29,500 บาทศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
โจทก์ส่งมอบงานเกินกำหนดเวลาตามสัญญาและจำเลยยอมรับมอบงานจากโจทก์โดยมิได้อิดเอื้อน โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดเพื่อการส่งมอบที่เนิ่นช้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 597
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 596 ให้ถือเอาการส่งมอบการงานเป็นการทำงานเสร็จสิ้น การขนย้ายปั้นจั่นล่าช้าของโจทก์เกิดขึ้นภายหลังการส่งมอบการงานเสร็จสิ้นแล้วจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่เหตุแห่งการส่งมอบงานที่เนิ่นช้าซึ่งจะเป็นเหตุให้ลดสินจ้างได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โจทก์มอบอำนาจให้นายวินัย จุลเจือฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และบัดนี้ได้เปลี่ยนหุ้นส่วนผู้จัดการใหม่เป็นจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2518จำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้หล่อเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง พร้อมทั้งขนส่งและตอกเสาเข็มลงดินให้ด้วยจำนวน10 ต้น ราคาต้นละ 7,250 บาท รวมเป็นเงิน 72,500 บาท โจทก์ได้รับเงินในวันทำสัญญา 20,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะชำระเมื่อโจทก์ตอกเสาเข็มเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยจัดการให้โจทก์สามารถเข้าทำงานได้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2519โจทก์ได้ทำการตามสัญญาเสร็จสิ้นและส่งมอบงานให้จำเลยรับโดยไม่อิดเอื้อน

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2519 โจทก์ขอรับเงินค่าจ้างตามสัญญา แต่จำเลยขอผัดผ่อนเรื่อยมา ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 52,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2519 จนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ

จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการที่ 1 ตามสัญญาจ้างโจทก์จะต้องทำการให้เสร็จและส่งมอบแก่จำเลยภายในวันที่ 3 มกราคม 2519 แต่โจทก์ตอกเสาเข็มเสร็จเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2519 และขนของออกจากที่ในวันที่ 24 มีนาคม 2519 จำเลยได้โต้แย้งการที่โจทก์ส่งมอบงานให้จำเลยเนิ่นช้า จำเลยจึงไม่ยอมชำระราคาที่เหลือให้โจทก์เพราะจำเลยยังไม่ทราบว่าทางราชการจะปรับจำเลยหรือไม่ จำเลยจะคืนเงินจำนวนนี้ให้โจทก์เมื่อเหลือจากการถูกปรับและหักค่าเสียหายของจำเลยไว้ด้วยแล้ว โจทก์จะคิดค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้เพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาการที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 82,000 บาท เมื่อหักกับเงินค่าจ้างที่จำเลยยึดหน่วงไว้แล้วโจทก์ต้องชดใช้เงินให้จำเลยอีก 29,500 บาท จึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชดใช้เงินจำนวน 29,500 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะชำระให้จำเลยเสร็จ

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่สามารถทำงานตามกำหนดได้ เนื่องจากความผิดของจำเลยเอง เพราะจำเลยมิได้ขจัดอุปสรรคเรื่องสายไฟฟ้ามิได้จัดทำนั่งร้านรองรับปั้นจั่นให้สามารถรองรับปั้นจั่นทำการตอกเสาเข็มได้ มิได้เตรียมสถานที่สำหรับกองเสาเข็มให้เรียบร้อย ทางรถที่จะนำเสาเข็มเข้าไม่สะดวกเพราะทางแคบ โจทก์สามารถทำงานได้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์2519 แต่ต้องเสียเวลาให้นายช่างผู้ควบคุมงานของจำเลยมาชี้ตำแหน่งทำให้งานต้องล่าช้าไปอีก แต่โจทก์ก็ได้ตอกเสาเข็มเสร็จสิ้นภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่โจทก์เริ่มสามารถเข้าดำเนินการได้ตามสัญญา โจทก์มิได้ปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงเงินของโจทก์และไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ เฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 4 ขาดนัดพิจารณาด้วย

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เหตุแห่งการล่าช้าในการทำงานของโจทก์เกิดจากความผิดของจำเลย พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินจำนวน 52,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2519 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กำหนดเวลาที่โจทก์จะต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันทำสัญญานั้น มีเงื่อนไขกำหนดไว้ในสัญญาข้อ 6 ด้วยว่า ถ้ามีข้อติดขัดตามสัญญาข้อ 3 และข้อ 4 และข้อ 5 แล้ว กำหนดเวลา 30 วันให้เริ่มนับเมื่อขอติดขัดดังกล่าวได้รับการแก้ไขแล้ว กล่าวคือตามสัญญาข้อ 3 จำเลยต้องทำนั่งร้านรองรับปั้นจั่นให้ตอกเสาเข็มได้ ข้อ 4 จำเลยต้องเตรียมสถานที่สำหรับกองเสาเข็มให้เรียบร้อย มีถนนให้รถบรรทุกเสาเข็มและรถบรรทุกปั้นจั่นเข้าถึงสถานที่ก่อสร้างได้ และข้อ 5 หากติดขัดในเรื่องเสาไฟฟ้าและท่อน้ำประปาหรือติดขัดอย่างอื่นอันเป็นอุปสรรคในการทำงานจำเลยต้องรับผิดชอบโยกย้ายให้จนกว่าโจทก์ทำงานได้ หาใช่ว่าโจทก์จะต้องทำงานให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันทำสัญญา โดยไม่มีเงื่อนไขไม่ และคดีฟังได้ว่าอุปสรรคในการที่โจทก์จะเข้าทำงานตามสัญญามีอยู่จริงโจทก์ไม่สามารถเข้าไปทำงานในวันที่ทำสัญญาได้โจทก์เข้าไปทำงานได้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2519 และวันสุดท้ายของการทำงานตามสัญญาคือวันที่ 11 มีนาคม 2519 แต่โจทก์ส่งมอบงานให้จำเลยในวันที่ 18 มีนาคม 2519 เกินกำหนดเวลาไป 7 วัน ถือได้ว่าโจทก์ส่งมอบงานเกินกำหนดเวลาตามสัญญา

ปัญหาเรื่องความรับผิดของโจทก์ในการส่งมอบงานเกินกำหนดเวลาตามสัญญานั้น เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งคดีมีทุนทรัพย์ 29,500 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาข้อเท็จจริง ฎีกาจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ปัญหาว่าจำเลยชอบที่จะได้ลดสินจ้างตามที่โจทก์ฟ้องเรียกลงเพียงใดหรือไม่นั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อโจทก์ทำงานเสร็จและส่งมอบงานให้จำเลย จำเลยก็รับมอบงานไว้โดยดีมิได้โต้แย้งเกี่ยวกับการส่งมอบงานเกินกำหนดเวลาแต่อย่างใด คงมีแต่บันทึกที่จำเลยทำไว้ว่าโจทก์ย้ายปั้นจั่นออกไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2519ทำให้จำเลยเสียเวลาในการดำเนินการก่อสร้าง 5 วัน เพราะโครงปั้นจั่นติดอยู่ในเขตที่ทำการก่อสร้างเท่านั้น แสดงว่าจำเลยยอมรับมอบงานจากโจทก์โดยมิได้อิดเอื้อน โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดเพื่อการส่งมอบที่เนิ่นช้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 597 ส่วนข้อโต้แย้งเกี่ยวกับบันทึกเรื่องการรื้อถอนปั้นจั่นล่าช้านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 596 ให้ถือเอาการส่งมอบการงานเป็นการทำงานเสร็จสิ้น การขนย้ายปั้นจั่นล่าช้าเกิดขึ้นภายหลังจากการส่งมอบการงานเสร็จสิ้นแล้ว จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากไม่ใช่เหตุแห่งการส่งมอบงานที่เนิ่นช้าซึ่งจะเป็นเหตุให้ลดสินจ้างได้

พิพากษายืน

Share