คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2049/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ระวังแนวเขตสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายให้ไประวังแนวเขตที่พิพาทเมื่อได้ความว่าที่พิพาทไม่ได้เป็นที่สาธารณประโยชน์หรือทางราชการสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ดังนี้การที่จำเลยที่ 1ให้ถ้อยคำถึงที่พิพาทจึงไม่เกี่ยวและเกินไปจากหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา83, 91, 137, 157, 264, 265, 268 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฏหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268 และ 137 สำหรับความผิดตามมาตรา 265, 268 ต้องลงโทษตามมาตรา 268 แต่ความผิดตามมาตรา 268 กับมาตรา137 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทจึงให้ลงโทษตามมาตรา 268 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ ปรากฏว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดกระทงนี้โดยอาศัยข้อเท็จจริง ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน กล่าวคือข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรีเมืองพิจิตร ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอเมืองพิจิตรให้เป็นผู้ไประวังแนวเขตที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพิจิตร จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีหน้าที่ระวังแนวเขตสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ได้ความว่าที่ดินแปลงพิพาทไม่ได้เป็นที่สาธารณประโยชน์หรือทางราชการสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันอยู่นอกเขตบึงสีไฟที่คณะกรรมการอำเภอได้นำชี้ไว้ การที่จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำต่อนายสมนึกเจ้าหน้าที่ผู้ทำการรังวัดและนายอำเภอว่านายสอาดแบ่งขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 เมื่อประมาณ 18 ปีที่แล้ว โดยจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองทำประโยชน์ติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รายละเอียดปรากฏตามบันทึกถ้อยคำผู้ปกครองท้องที่เอกสารหมาย จ.6 จึงเป็นการให้ถ้อยคำที่ไม่เกี่ยวและเกินไปจากหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น’
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268 และมาตรา 137 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share