แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องเจาะจงสละที่ดินมรดกส่วนของผู้ร้องให้จำเลยโดยเฉพาะ ไม่ใช่การสละมรดกตามความในมาตรา 1612 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การที่ผู้ร้องและจำเลยตกลงกันโดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อไว้ทั้งสองฝ่ายให้จำเลยเป็นผู้ใช้หนี้โจทก์แทนนาง อ. และผู้ร้องยอมสละที่ดินมรดกส่วนของตนให้จำเลย เช่นนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850 ใช้บังคับได้ และเมื่อผู้ร้องยอมสละส่วนมรดกของตนให้จำเลยไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินรายนี้
ย่อยาว
คดีนี้ จำเลยไม่ชำระเงินให้โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมีโฉนด ๒ แปลง ผู้ร้องทั้งสี่จึงยื่นคำร้องว่าที่ดินแปลงโฉนดที่ ๑๐๒๐๕ ซึ่งมีชื่อนางอ้อย เถื่อนโตถือกรรมสิทธิ์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดมานั้น นางอ้อยถึงแก่กรรมไปแล้ว ที่ดินโฉนดดังกล่าวตกได้แก่จำเลย ผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และนางม้อย นางม้อยถึงแก่กรรม ส่วนของนางม้อยตกได้แก่ผู้ร้องที่ ๔ ซึ่งเป็นบุตรผู้ร้องทั้งสี่และจำเลยจึงมีสิทธิเป็นเจ้าของคนละส่วนเท่า ๆ กัน หากศาลขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ให้จำเลย ๑ ส่วนอีก ๔ ส่วนกันไว้ให้ผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่า นางอ้อยกู้เงินโจทก์แล้วนำที่ดินโฉนดที่ ๑๐๒๐๕ ให้ยึดไว้เป็นประกันเมื่อนางอ้อยถึงแก่กรรม ผู้ร้องและจำเลยไม่มีเงินชำระหนี้โจทก์ จึงตกลงกันโดยผู้ร้องยอมยกที่ดินโฉนดที่ ๑๐๒๐๕ ให้จำเลยขอสละสิทธิไม่รับมรดกที่ดินแปลงนี้ ให้จำเลยรับใช้หนี้โจทก์แทนนางอ้อยโดยทำเป็นหนังสือไว้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิจะขอกันส่วน
จำเลยคัดค้านทำนองเดียวกันกับโจทก์
ศาลชั้นต้นเห็นว่า หนังสือสละมรดกไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความใช้บังคับไม่ได้ เท่ากับไม่มีการสละมรดกพิพากษาให้แบ่งเงินสุทธิในการขายที่ดินโฉนดที่ ๑๐๒๐๕ ออกเป็น ๕ ส่วน กันให้ผู้ร้อง ๔ ส่วน เป็นของจำเลย ๑ ส่วน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หนังสือสัญญาสละมรดกที่ผู้ร้องทั้งสี่ทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความในการสละมรดก แต่ผู้ร้องที่ ๔ ทำในขณะอายุเพียง ๑๙ ปี จะสละมรดกไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับการยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองและได้รับอนุมัติจากศาลแล้วด้วย การสละมรดกของผู้ร้องที่ ๔ จึงไม่มีผล เมื่อผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ทำหนังสือสัญญาสละมรดกให้แก่จำเลยแล้ว จึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนในเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินรายพิพาท พิพากษาแก้ให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ นอกจากที่แก้คำให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่า นางอ้อยเป็นหนี้โจทก์อยู่เมื่อนางอ้อยถึงแก่กรรม จำเลยและผู้ร้องตกลงกันโดยจำเลยเป็นผู้รับหนี้ของนางอ้อยไว้ และผู้ร้องยอมสละที่ดินมรดกส่วนของตนแปลงนี้ให้จำเลย โดยจำเลยมีภาระต้องชดใช้หนี้ของนางอ้อยแก่โจทก์ข้อตกลงนี้ได้ทำกันเป็นหนังสือ จำเลยและผู้ร้องทั้งสี่ลงลายมือชื่อไว้แล้วมอบให้นายโก้งเก็บรักษาไว้ แต่นายโก้งย้ายบ้านหนังสือนี้จึงหายไป
ที่ผู้ร้องฎีกาว่าการสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๑๒ หมายถึงการสละมรดกส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด แต่คดีนี้ผู้ร้องสละมรดกส่วนของตนให้จำเลย ถือว่าไม่เป็นการสละมรดก เมื่อไม่มีการสละมรดก ผู้ร้องจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกอยู่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๑๒ มีความหมายดังที่ผู้ร้องฎีกาขึ้นมา คดีนี้ผู้ร้องเจาะจงสละที่ดินมรดกส่วนของผู้ร้องให้จำเลยโดยเฉพาะ จึงไม่ใช่การสละมรดกตามความในกฎหมายมาตรานี้แต่การที่ผู้ร้องและจำเลยตกลงกันโดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อไว้ทั้งสองฝ่าย ให้จำเลยเป็นผู้ใช้หนี้โจทก์แทนนางอ้อยและผู้ร้องยอมสละที่ดินมรดกส่วนของตนให้จำเลยเช่นนี้ มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๕๐ ใช้บังคับได้ เมื่อผู้ร้องยอมสละส่วนมรดกของตนให้จำเลยไปแล้วจึงไม่มีสิทธิจะขอกันส่วนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินรายนี้
พิพากษายืน