คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2048/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะโทษเป็นลงโทษจำคุกและปรับแต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้การที่โจทก์ร่วมฎีกาว่าจำเลยขับรถเร็วล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของโจทก์ร่วมฝ่ายเดียวมิใช่ต่างฝ่ายต่างขับรถเร็วและต่างล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของอีกฝ่ายหนึ่งดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยโจทก์ร่วมมิได้ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เช่นนี้ฎีกาของโจทก์ร่วมจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 78, 157, 160
จำเลยให้การรับสารภาพความผิดฐานขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินแล้วหลบหนีไม่แจ้งเหตุ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินและผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4)78, 157, 160 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินและความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 เดือน ฐานขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินแล้วหลบหนี จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 3 เดือนทางนำสืบและคำให้การรับสารภาพบางข้อหาของจำเลยหลังจากการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในห้า คงจำคุก 72 วัน
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งเป็นเงิน1,000 บาท และฐานขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินแล้วหลบหนีลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งเป็นเงิน 4,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในห้าแล้วคงปรับ 4,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 2 เดือนต่อครั้งมีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วม ฎีกา โดย ผู้พิพากษา ซึ่ง พิจารณา และ ลงชื่อ ใน คำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาต ให้ ฎีกา ใน ปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ร่วมได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเฉพาะในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390และให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าในความผิดดังกล่าว ให้รอการลงโทษจำคุกไว้และให้ลงโทษปรับจำเลยด้วย โจทก์ร่วมฎีกาว่าเหตุรถชนกันมิใช่เพราะโจทก์ร่วมและจำเลยต่างขับรถด้วยความเร็วและต่างขับล้ำเข้าไปในช่องทางของอีกฝ่ายหนึ่งดังที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาแต่เพราะจำเลยขับรถด้วยความเร็วล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของโจทก์ร่วมแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนี้แม้การพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จะฟังข้อเท็จจริงว่าทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยต่างขับรถด้วยความเร็วล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลยซึ่งโจทก์ร่วมมิได้ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ การวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วมย่อมไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปฎีกาของโจทก์ร่วมจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ร่วมมาไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายก ฎีกา โจทก์ร่วม

Share