คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2046/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 24 มิใช่บทบังคับให้ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำขอของคู่ความทุกเรื่อง ถ้าเห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ขอหรือคดีจำเป็นต้องดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นมีอำนาจใช้ดุลพินิจและมีคำสั่งให้รอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษาได้
ในการพิจารณาคำร้องขอของผู้ร้องครั้งแรกในศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีและประเด็นในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นครั้งแรกเป็นเรื่องผู้ร้องเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนประเด็นครั้งหลังเป็นเรื่องสมควรถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ว่า เมื่อมีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ เมื่อผู้คัดค้านร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอ้างว่าพินัยกรรมปลอมแต่ผู้ร้องคัดค้านคำร้องขอของผู้คัดค้าน ดังนี้ คำร้องขอของผู้คัดค้านและคำคัดค้านของผู้ร้อง จึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ซึ่งแตกต่างจากประเด็นในการพิจารณาครั้งแรก จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางสาวณิชมน ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายยุวชาติ ผู้ตายโดยพินัยกรรม นางนิภาพร ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้คัดค้านเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและเป็นมารดาของผู้ร้อง ผู้ร้องมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ และไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย พินัยกรรมที่ผู้ร้องนำมาเป็นเหตุร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเป็นพินัยกรรมปลอม ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่า ผู้ร้องได้ดำเนินการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ไม่ได้ละเลยหรือทำผิดต่อหน้าที่ของผู้จัดการมรดก โดยอยู่ระหว่างรวบรวมทรัพย์มรดกของผู้ตาย ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าพินัยกรรมที่ผู้ร้องนำมาใช้อ้างต่อศาลเป็นพินัยกรรมปลอมนั้นไม่เป็นความจริง ขอให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย คำขออื่นของผู้คัดค้านนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนางนิภาพรผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายยุวชาติ ผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยตามประเด็นที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านถูกกำจัดจากกองมรดกเพราะผู้คัดค้านปิดบังซ่อนเร้นและยักยอกทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1605 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นต้องวินิจฉัยก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 แต่ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยให้ หากวินิจฉัยเป็นคุณแก่ผู้ร้องแล้วก็ไม่ต้องพิจารณาคดีต่อไป คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจึงไม่ชอบ เห็นว่า การที่ผู้ร้องอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวและศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยไว้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏอยู่แล้วในสำนวน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียเอง โดยไม่ย้อนสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก ปัญหานี้เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 มิใช่บทบังคับศาลต้องทำการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำขอของคู่ความทุกเรื่อง ถ้าเห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายที่ขอหรือคดีจำเป็นต้องดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นมีอำนาจใช้ดุลพินิจและมีคำสั่งให้รอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษา ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นไม่หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยก่อนมีคำพิพากษาเสียเอง ก็เป็นเรื่องดุลพินิจของศาลชั้นต้น การดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้คัดค้านมีสิทธิพิสูจน์ว่าพินัยกรรมปลอม เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 หรือไม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ผู้ร้องอ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม คดีถึงที่สุด จึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นที่สุดแล้วว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นผู้คัดค้านที่ขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอ้างว่าพินัยกรรมปลอมจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ เห็นว่า ในการพิจารณาคำร้องขอของผู้ร้องครั้งแรกในศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านมิได้เป็นคู่ความในคดีและประเด็นในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นครั้งแรกเป็นเรื่องผู้ร้องเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนประเด็นครั้งหลังเป็นเรื่องสมควรถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 ว่า เมื่อมีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจถอนผู้จัดการมรดกเสียได้เมื่อผู้คัดค้านร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย อ้างว่าพินัยกรรมปลอมแต่ผู้ร้องคัดค้านคำร้องขอของผู้คัดค้าน ดังนี้ คำร้องขอของผู้คัดค้าน และคำคัดค้านของผู้ร้อง จึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ซึ่งแตกต่างกัน จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ฎีกาผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาที่ผู้ร้องฎีกาต่อไปว่า ผู้คัดค้านมีอำนาจร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ คดีมีเหตุสมควรถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ และสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่นั้น ผู้ร้องฎีกาโต้แย้งเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในการรับฟังข้อเท็จจริงแห่งคดีทั้งสิ้น โดยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ฎีกาส่วนนี้ของผู้ร้องจึงไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share