คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2042/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เทปหรือวัสดุโทรทัศน์ของกลางจำนวน 100 ม้วน เป็นเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายแล้ว จำเลยผู้ประกอบการมีหน้าที่จัดให้มีการแสดงตรา หมายเลขรหัสบนเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ของกลางตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4(พ.ศ. 2531) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 แต่เมื่อไม่มีการแสดงตรา หมายเลขรหัสดังกล่าว จำเลยย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530มาตรา 6,10,36 และเทปกับวัสดุโทรทัศน์ของกลางดังกล่าว จึงเป็นทรัพย์ที่ถือได้ว่าจำเลยมีไว้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32 ทั้งโจทก์บรรยายคำฟ้องอ้างบทบัญญัติดังกล่าวขอให้ศาลริบ ศาลจึงต้องริบตามคำขอของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 6, 10, 36 กฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2531) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 6, 10, 36ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 1,400 บาทของกลางคืนเจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบของกลาง โดยอัยการสูงสุดรับรองในอุทธรณ์ว่า มีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์และได้วินิจฉัย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบของกลาง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบของกลางไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์พ.ศ. 2530 ไม่ได้บัญญัติให้ริบของกลางและเทปของกลางไม่ใช่เทปที่บ่อนทำลายชาติหรือเป็นเทปลามกอนาจาร การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่า เทปหรือวัสดุโทรทัศน์ของกลางจำนวน 100 ม้วน เป็นเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายแล้ว จำเลยมีหน้าที่จัดให้มีการแสดงตราหมายเลขรหัสบนเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ของกลางตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2531) ออกตามความในพระราชบัญญัติ ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 แต่ไม่มีการแสดงตรา หมายเลขรหัสบนเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ดังกล่าวซึ่งจำเลยมีไว้ในครอบครองจำเลยผู้ประกอบการตามฟ้องย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์พ.ศ. 2530 มาตรา 6, 10, 36 ดังนี้ เทปและวัสดุโทรทัศน์ของกลางจำนวน 100 ม้วน จึงเป็นทรัพย์ที่ถือได้ว่าจำเลยมีไว้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ซึ่งบัญญัติว่า ทรัพย์สินใดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ เมื่อเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ของกลางจำนวน 100 ม้วนเป็นทรัพย์ที่ถือได้ว่าจำเลยมีไว้เป็นความผิด ทั้งโจทก์บรรยายคำฟ้องอ้างบทบัญญัติดังกล่าวขอให้ศาลริบ ศาลจึงต้องริบตามคำขอของโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบของกลางต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เพียงว่า ให้ริบของกลางโดยมิได้พิพากษาว่า นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นยังไม่ถูกต้องเพราะศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้บทมาตราและโทษที่ลงแก่จำเลยแต่อย่างใดศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share