คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยขอแบ่งทรัพย์มรดก ระหว่างพิจารณาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ ต่อมาการแบ่งทรัพย์บางรายการไม่อาจตกลงกันได้ โจทก์จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินแบ่งกันตามส่วน การยึดทรัพย์ในกรณีนี้มิใช่เป็นการร้องขอให้บังคับคดีตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หากแต่เป็นการร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินกันระหว่างโจทก์จำเลยผู้เป็นเจ้าของรวมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 วรรคสองฉะนั้นผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกออกเป็น ๙ ส่วน ให้โจทก์ทั้งสองได้รับคนละหนึ่งส่วน นอกนั้นเป็นของจำเลย ต่อมาการแบ่งทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์อันดับ ๒ โจทก์และจำเลยตกลงกันไม่ได้โจทก์จึงขอให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาด เพื่อเอาเงินแบ่งกันตามส่วน ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นของผู้ร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์จำเลยพิพาทกันด้วยเรื่องมรดกของนายแดงเมื่อโจทก์จำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกันโดยแบ่งมรดกกันตามส่วนซึ่งศาลได้พิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว กองมรดกของนายแดงก็ตกเป็นทรัพย์สินซึ่งโจทก์จำเลยต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน อันโจทก์จำเลยจักต้องนำมาแบ่งปันกันตามส่วนเมื่อไม่สามารถตกลงแบ่งกันเองได้ กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๔ วรรคสอง มาใช้บังคับ ดังนั้นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาด จึงเป็นการร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมเท่านั้น โจทก์ก็ดีจำเลยก็ดี หาใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันและกันไม่กรณีจึงมิใช่เป็นการร้องขอให้บังคับคดีตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๘
พิพากษายืน

Share