คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับคำสั่งจากจำเลยให้เดินทางไปปฏิบัติงานรวม 4ครั้ง แต่ละครั้งเมื่อครบกำหนดก็เดินทางกลับ การนับเวลาการเดินทางไปราชการว่าเกินปีหนึ่งหรือไม่ต้องถือตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการฯ คือนับแต่เวลาออกจากสถานที่อยู่หรือสถานที่ปฏิบัติราชการตามปกติจนกลับถึงสถานที่ดังกล่าว ดังนี้เมื่อโจทก์ออกจากสถานที่ปฏิบัติราชการครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2523 กลับวันที่ 5กุมภาพันธ์ 2524 จึงไม่เกินหนึ่งปี โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย โจทก์สั่งให้จำเลยไปควบคุมดูแลเหมืองแร่ โจทก์ขอเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว แต่จำเลยไม่จ่ายให้ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยจ่ายเงินนั้นแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานหลายครั้งครั้งที่กล่าวในฟ้องเป็นครั้งสุดท้าย โดยเมื่อครบกำหนดตามคำสั่งแต่ละครั้งโจทก์ก็เดินทางกลับ การไปปฏิบัติงานเป็นเรื่องเดียวกันในสถานที่แห่งเดียวกัน และมิใช่กรณีไปปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและปราบปรามนอกที่ตั้ง ตามกฎหมายให้เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและหรือค่าเช่าที่พักได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันออกเดินทาง ระยะเวลาที่โจทก์ไปปฏิบัติงานตามฟ้องเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ออกเดินทางไปปฏิบัติงานครั้งแรก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเบิกเงินตามฟ้องขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับคำสั่งจากจำเลยให้ไปปฏิบัติงานรวม 4 ครั้ง ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2522 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2522 ครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2523 ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2524 แต่ละครั้งเมื่อครบกำหนดก็เดินทางกลับ และออกเดินทางไปใหม่ตามคำสั่งใหม่ จำเลยได้จ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับ 3 ครั้งแรกแต่ไม่จ่ายในครั้งสุดท้าย ปัญหาที่ว่า การไปปฏิบัติงานของโจทก์เป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี อันจะเป็นการต้องห้ามมิให้เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางตามพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการฯหรือไม่นั้น ปรากฏว่ามาตรา 14 ของพระราชกฤษฎีกานี้บัญญัติให้เบิกได้เพียงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ออกเดินทาง การนับเวลาเดินทางไปราชการก็ต้องถือตามมาตรา 11 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “การนับเวลาเดินทางไปราชการเพื่อคำนวณเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ให้นับตั้งแต่เวลาออกจากสถานที่อยู่ หรือสถานที่ปฏิบัติราชการตามปกติ จนกลับถึงสถานที่อยู่หรือสถานที่ปฏิบัติราชการตามปกติ”เมื่อการไปปฏิบัติงานของโจทก์คราวหลังนี้โจทก์ออกจากสถานที่ปฏิบัติราชการตามปกติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2523 กลับวันที่ 5กุมภาพันธ์ 2524 จึงไม่เกิน 1 ปี

พิพากษายืน

Share