คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “สามีภรรยา” ตาม ก.ม. อาญา ม.54 ก.ม.มิได้บัญญัติไว้ว่าพฤติการณ์เช่นไร ก.ม.อาญายอมรับนับถือว่าเป็นสามีภรรยากันฉนั้นโดยปกติต้องอาศัย ป.พ.พ. ที่ใช้อยู่ในขณะทำผิดเป็นหลักกล่าวคือต้องได้มีการจดทะเบียนสมรสแล้ว
ชายหญิงที่ได้เสียกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสแล้วภายหลังฝ่ายหนึ่งเอาทรัพย์ของอีกฝ่ายหนึ่งไป ดังนี้ต้องอาศัยเจตนาเป็นหลักว่ามีเถยจิตลักทรัพย์หรือไม่
เมื่อจำเลยไม่ใช่สามีตาม ม.54 และในเรื่องเจตนานี้ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่าจำเลยเจตนาลักทรัพย์แล้ว ฎีกาของจำเลยในเรื่องว่าไม่มีความผิดตาม ม.54 ในข้อนี้จึงเป็นฎีกาคัดค้านข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา ม.220.

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังตามคำฟ้องโจทก์และคำรับสารภาพของจำเลยประกอบกับคำแถลงของโจทก์ได้ความว่า จำเลย
ยกับนางป้านผู้เสียหายอยู่กินเป็นสามีภรรยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส จำเลยลักเครื่องรางรวม ๔ ชิ้นราคา ๕๐๐ บาทของนางป้านผู้เสียหายไป ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ก.ม.อาญา ม.๒๘๘ จำคุกจำเลย ๑ เดือน ลดตาม ม.๕๙ กึ่งหนึ่งจำคุก ๑๕ วัน จำเลยต้องขังมาพอแก่โทษแล้วให้ปล่อยตัวไป
จำเลยอุทธรณ์คัดค้านข้อ ก.ม. ว่าจำเลยไม่ผิด
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ก.ม.อาญา ม.๕๔
ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหามีว่าจำเลยเป็นสามีนางป้านตาม ก.ม.อาญา ม.๕๔ หรือไม่ เห็นว่า ก.ม.อาญามิได้บัญญัติไว้ว่าพฤติการณ์เช่นไรกฎหมายอาญายอมรับนับถือว่าเป็นสามีภรรยากัน ฉนั้นโดยปกติต้องอาศัย ป.พ.พ. ที่ใช้อยู่ในขณะเกิดการกระทำผิดเป็นหลักกล่าวคือได้มีการจดทะเบียนสมรสแล้ว
อย่างไรก็ดีอาจมีหญิงชายได้เสียกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสแล้วภายหลังฝ่ายหนึ่งเอาทรัพย์ของอีกฝ่ายหนึ่งไปซึ่งต้องอาศัยเจตนาเป็นหลักว่ามีเถยยจิตลักทรัพย์หรือไม่ เรื่องนี้ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นเป็นเจตนาลักทรัพย์ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาคัดค้านข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. ม.๒๒๐
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาของจำเลย.

Share