คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 จะเกิดในราชอาณาจักรไทยและได้สัญชาติไทยตาม พระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่ามีบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิด โจทก์ที่1 ซึ่งเป็นมารดาเป็นคนต่างด้าวสัญชาติญวน และเป็นคนญวนอพยพเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 จึงถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1 ดังนั้นโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 จึงไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเกิดในราชอาณาจักรไทยมีสัญชาติไทยตามกฎหมายจำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพจังหวัดนครพนม กล่าวหาว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนญวนอพยพมีสัญชาติญวนบังคับให้โจทก์ทั้งเจ็ดไปทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ เป็นผลให้โจทก์ทั้งเจ็ดขาดสิทธิหน้าที่อันควรจะพึงมีพึงได้ในฐานะที่เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย ให้ถอนชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดออกจากทะเบียนสำนักงานกิจการญวนอพยพห้ามจำเลยกระทำการรบกวนหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดเกี่ยวกับสัญชาติไทย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนต่างด้าวสัญชาติญวนที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวและเป็นผู้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง การที่จำเลยให้โจทก์ทั้งเจ็ดไปทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ แม้ศาลจะฟังว่าโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 7 เกิดในราชอาณาจักรไทย แต่โจทก์ทุกคนก็ไม่ได้สัญชาติไทย เพราะเกิดจากบุคคลต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยชั่วคราวและอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง จึงถูกถอนสัญชาติไทย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 เกิดในราชอาณาจักรไทยเป็นบุคคลสัญชาติไทยนั้น มีแต่ตัวโจทก์และนายพรหมมา กล่ำผัก กับนายบุญมา กล่ำผัก ซึ่งเป็นญาติของโจทก์เบิกความลอยๆ ไม่มีพยานเอกสาร เช่น สูติบัตรหรือหลักฐานอย่างอื่นของทางราชการมาแสดงให้น่าเชื่อ ฝ่ายจำเลยเบิกความยืนยันว่าได้สอบถามไปยังอำเภอธาตุพนม ซึ่งโจทก์ที่ 1 อ้างว่าเป็นอำเภอที่โจทก์ที่ 1 เกิดแล้วไม่ปรากฏว่า มีสูติบัตรของโจทก์ที่ 1และไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 มีบัตรประจำตัวประชาชนคนไทยมาก่อนเลย แต่ได้ความว่าโจทก์ที่ 1 เข้ามาในราชอาณาจักรไทยในฐานะผู้อพยพลี้ภัยสงคราม นอกจากนี้ตามคำขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประวัติคนญวนอพยพ) ซึ่งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามเอกสารหมาย ล.1 ระบุชัดว่าโจทก์ที่ 1เกิดในประเทศสาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว และมีสัญชาติญวนเชื้อชาติญวน ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุคคลสัญชาติไทย
สำหรับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 บุตรของโจทก์ที่ 1 นั้น แม้จะฟังว่าเกิดในราชอาณาจักรไทย และได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (3) ก็ตาม แต่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 7 มีบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายและในขณะที่เกิด โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 7 เป็นคนต่างด้าว สัญชาติญวน และเป็นคนญวนอพยพ เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โจทก์ที่ 2ถึงที่ 7 จึงถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1 ดังนั้นโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 จึงไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ด…’
พิพากษายืน.

Share