คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่ออธิบดีกรมอัยการชี้ขาดให้ฟ้องคดีตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจแล้ว คำชี้ขาดย่อมเป็นอันถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 พนักงานอัยการต้องฟ้องคดีไปตามนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการรื้อฟื้นขึ้นมาชี้ขาดใหม่ได้ อธิบดีกรมอัยการจึงไม่มีอำนาจที่จะชี้ขาดกลับคำสั่งของตนได้อีก

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151, 152 ทั้งสามสำนวน การกระทำของจำเลยที่ 1 แต่ละสำนวนเป็นกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 151 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุกจำเลยที่ 1 10 ปี สำหรับสำนวนแรก จำคุก 5 ปี สำนวนที่สอง จำคุก 6 ปี สำนวนที่สาม เฉพาะสำนวนที่สาม จำเลยที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 152, 86 ลงโทษตามมาตรา 151, 86 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 4 ปี โจทก์ในสำนวนที่สามจำเลยสำนวนแรก สำนวนที่สอง และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในสำนวนที่สามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามสำนวนหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า คดีสามสำนวนนี้นายอรุณ อิศรภักดี รองอธิบดีกรมอัยการรักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลได้ ข้อนี้ได้ความรับกันว่า เมื่อ พ.ศ. 2517พนักงานสอบสวนกองปราบปรามส่งสำนวนการสอบสวนคดีทั้งสามสำนวนนี้มายังพนักงานอัยการ กรมอัยการ นายอรุณ อิศรภักดี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายคดีได้มีคำสั่งไม่ฟ้องทั้งสามสำนวน เสนอไปยังอธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมตำรวจมีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้อง นายโปร่งเปล่งศรีงาม อธิบดีกรมอัยการชี้ขาดให้ฟ้องทั้งสามสำนวน แต่ยังมิได้ฟ้องต่อศาลเพราะจำเลยขอเลื่อนหลายครั้ง ในระหว่างนั้นคณะกรรมการซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นเพื่อทำการสอบสวนกรณีที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสอบสวนทางวินัย ทำการสอบสวนเสร็จเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำผิด ขอให้เสนอผลการสอบสวนไปยังกรมอัยการ นายกรัฐมนตรีสั่งว่าชอบแล้ว ประธานกรรมการสอบสวนได้มีหนังสือส่งสำเนาคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการและสำเนาสำนวนการสอบสวนมาให้อธิบดีกรมอัยการทราบ นายโปร่ง เปล่งศรีงาม สั่งในหนังสือนั้นว่า ทราบแล้ว ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2518 นายโปร่ง เปล่งศรีงามได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ นายอรุณ อิศรภักดี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมอัยการได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการ ครั้นวันที่ 29 สิงหาคม 2518 กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้นายอรุณ อิศรภักดี พ้นจากผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการ และให้นายเกียรติ ชีวะเกตุ รองอธิบดีกรมอัยการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการต่อไป ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง นายอรุณ อิศรภักดี และนายเกียรติ ชีวะเกตุ ลงชื่อรับทราบคำสั่งในวันเดียวกันนั้น ต่อมาปรากฏว่าหลังจากนายโปร่ง เปล่งศรีงาม ลาออกจากราชการไปแล้ว นายอรุณ อิศรภักดีได้มีคำสั่งอีกครั้งหนึ่งเป็นไม่ฟ้องทั้งสามสำนวน และได้แจ้งคำสั่งไปยังอธิบดีกรมตำรวจแล้ว ครั้นวันที่ 8 กันยายน 2518 นายเกียรติ ชีวะเกตุผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการได้มีหนังสือเพิกถอนคำสั่งไม่ฟ้องของนายอรุณ อิศรภักดี ไปยังอธิบดีกรมตำรวจ ต่อมาพนักงานอัยการโจทก์จึงฟ้องคดีทั้งสามสำนวนนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่ออธิบดีกรมอัยการชี้ขาดให้ฟ้องคดีตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจแล้ว คำชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการเป็นอันถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 333ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1 พนักงานอัยการต้องฟ้องคดีไปตามนั้นเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการรื้อฟื้นขึ้นมาชี้ขาดใหม่ได้ อธิบดีกรมอัยการจึงไม่มีอำนาจที่จะชี้ขาดกลับคำสั่งของตนได้อีก ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3278/2522 ระหว่าง พนักงานอัยการกรมอัยการ โจทก์ นายอรุณ อิศรภักดี จำเลย คดีทั้งสามสำนวนนี้นายโปร่งเปล่งศรีงาม อธิบดีกรมอัยการได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจไว้แล้ว ครั้นนายโปร่ง เปล่งศรีงาม ลาออกจากราชการไปแล้ว แม้นายอรุณ อิศรภักดี จะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการก็ไม่มีอำนาจที่จะสั่งชี้ขาดใหม่เป็นไม่ฟ้อง คำสั่งของนายอรุณ อิศรภักดีที่สั่งไม่ฟ้องครั้งหลังนี้จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการโจทก์ที่จะฟ้องคดีนี้ตามคำสั่งชี้ขาดของนายโปร่ง เปล่งศรีงามอธิบดีกรมอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องทั้งสามสำนวน ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าขณะนายอรุณ อิศรภักดี สั่งไม่ฟ้องครั้งหลัง นายอรุณ อิศรภักดี เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการหรือไม่ ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดและก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมตำรวจ และเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยการดำเนินการจัดซื้อที่ดินทั้งสามสำนวนหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดในสำนวนคดีที่สามด้วยหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความในเบื้องต้นว่า เรื่องการจัดซื้อที่ดินของทางราชการมีมติของคณะรัฐมนตรีตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีด่วนมากที่ สร.0501/ว.23 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2508 ว่าการจัดซื้อควรติดต่อโดยตรงกับเจ้าของที่ดิน จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ซื้อที่ดินทั้งสามสำนวนเพื่อใช้ในราชการกรมตำรวจและได้จัดซื้อที่ดินในคดีทั้งสามสำนวนนี้แล้ว ซึ่งศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยแต่ละสำนวนตามลำดับ

สำนวนคดีแรกได้ความต่อไปว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2515 ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเสนอขายที่ดิน 18 โฉนด เนื้อที่ 24 ไร่ 98 ตารางวา ในราคาตารางวาละ 3,150 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 30,548,700 บาท เพื่อขยายหน่วยงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล และบ้านพักข้าราชการตำรวจ จำเลยที่ 1ในฐานะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้รับหนังสือแล้วดำเนินการให้ตั้งคณะกรรมการออกไปตรวจสอบที่ดิน มีหนังสือสอบถามราคาที่ดินไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน และเมื่อได้รับแจ้งแล้วได้ทำบันทึกเสนออธิบดีกรมตำรวจขออนุมัติซื้อที่ดินรายนี้ พร้อมกับแนบบันทึกเพื่ออธิบดีกรมตำรวจลงนามขออนุมัติต่อกระทรวงมหาดไทยไปด้วย พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์อธิบดีกรมตำรวจได้ลงนามในบันทึกที่แนบไปเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยครั้นวันที่ 17 สิงหาคม 2515 นายพ่วง สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทยผู้ใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อนุมัติให้ซื้อที่ดินรายนี้ได้โดยให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายและรับโอนที่ดินตามที่เสนอ วันที่ 25 สิงหาคม 2515 ห้างหุ้นส่วนจำกัดอิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี จึงทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับกรมตำรวจโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาแทนกรมตำรวจ ขณะนั้นที่ดินดังกล่าวยังเป็นของนายบันฑิตกับพวก 7 โฉนด เป็นของนายมีและนางสาวละเมียด 11 โฉนดและห้างหุ้นส่วนจำกัดอิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี ยังไม่มีวัตถุประสงค์ในการซื้อขายที่ดิน ห้างดังกล่าวยื่นคำขอจดทะเบียนเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ให้ทำการซื้อขายที่ดินได้ด้วยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2515 และนายทะเบียนรับจดทะเบียนเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2515 ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2515นายบัณฑิตกับพวกโอนขายที่ดิน 7 โฉนดให้นายอำนวย แย้มศิริ ผู้รับจ้างลงชื่อเป็นผู้ซื้อที่ดินในราคา 16,115,000 บาท วันเดียวกันนายอำนวยทำเป็นโอนขายที่ดินดังกล่าวต่อไปให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซีในราคา 21,975,000 บาท โดยมิได้ชำระราคากันจริง ส่วนนายมีและนางสาวละเมียดก็โอนขายที่ดินของตนแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิลเอเย่นซี ระบุราคาในสัญญาขายที่ดินเป็นเงิน 7,119,000 บาท เมื่อวันที่ 1กันยายน 2515 เช่นเดียวกัน ต่อมาวันที่ 4 กันยายน 2515 ห้างหุ้นส่วนจำกัดอิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี ได้โอนขายที่ดินทั้ง 18 โฉนดแก่กระทรวงการคลังเพื่อใช้ในราชการกรมตำรวจ ในราคา 30,548,700 บาท

โจทก์นำสืบว่า ในการจัดซื้อที่ดินรายนี้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหลายประการ ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมตำรวจ และแสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยการดำเนินการจัดซื้อที่ดินรายนี้ ประการแรกโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ไม่ติดต่อโดยตรงกับเจ้าของที่ดินเป็นการฝ่าฝืนมติของคณะรัฐมนตรี พิเคราะห์แล้ว หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีด่วนมากที่ สร.0501/ว.23 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2508 ตามเอกสารหมาย จ.183 มีใจความว่า เนื่องจากสำนักบริหารของนายกรัฐมนตรีเสนอว่า ได้มีหนังสือพิมพ์เสนอบทความและมีเสียงวิพากย์วิจารณ์กันมาว่า เมื่อทางราชการจะซื้อที่ดินแห่งใดมักจะต้องซื้อในราคาสูง เพราะนายทุนได้ทราบล่วงหน้าจึงกว้านซื้อที่ดินไว้ขายแก่ทางราชการ เป็นไปในทำนองว่ามีผลประโยชน์ร่วมกับข้าราชการบางคน และเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเจ้าหน้าที่จัดซื้อด้วย ถ้าเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยไม่เปิดเผยตามระเบียบปฏิบัติราชการลับอย่างจริงจังก็จะแก้ปัญหาได้ นายกรัฐมนตรีจึงนำเข้าปรึกษาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาแล้วลงมติขอให้เจ้ากระทรวงผู้บังคับบัญชาสอดส่องควบคุมโดยใกล้ชิดและในการจัดซื้อควรติดต่อโดยตรงกับเจ้าของที่ดินด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าหนังสือดังกล่าวใช้คำว่า “ควร” จึงไม่ใช่เป็นการบังคับเด็ดขาดให้เจ้าพนักงานผู้จัดซื้อต้องติดต่อโดยตรงกับเจ้าของที่ดินเพียงวิธีเดียว แม้พิจารณาเนื้อความตามหนังสือทั้งฉบับก็เพียงทำให้ทราบวัตถุประสงค์ว่า เพื่อป้องกันมิให้มีผู้กว้านซื้อที่ดินไว้ขายแก่ทางราชการในราคาสูง หาได้แสดงให้เห็นความหมายเพิ่มขึ้นว่าต้องติดต่อโดยตรงกับเจ้าของที่ดินเท่านั้นไม่ การที่จำเลยที่ 1 จัดซื้อที่ดินรายนี้โดยมิได้ติดต่อโดยตรงกับเจ้าของที่ดินจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมติของคณะรัฐมนตรี อันจะเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเมื่อเป็นการซื้อที่ดินโดยมิใช่ติดต่อโดยตรงกับเจ้าของที่ดินแล้ว การที่จำเลยที่ 1 มิได้เรียกโฉนดที่ดินจากห้างหุ้นส่วนจำกัดอิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซีผู้เสนอขายมาตรวจสอบว่า ห้างดังกล่าวเป็นเจ้าของที่ดินที่เสนอขายหรือไม่และมิได้สอบถามไปยังเจ้าพนักงานที่ดินว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิลเอเย่นซี เป็นเจ้าของที่ดินที่เสนอขายหรือไม่ จึงไม่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเช่นเดียวกัน เพราะมิใช่เป็นสิ่งที่ต้องกระทำ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 รับหนังสือเสนอขายที่ดินแล้วมิได้ส่งผ่านเวรรับส่งเพื่อลงรับหนังสือ มิได้เสนอหนังสือผ่านพลตำรวจโทมนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลนั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้แล้วว่าไม่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โจทก์มิได้โต้แย้งในชั้นนี้จึงไม่ต้องวินิจฉัยอีก

โจทก์อ้างต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ทำบันทึกเสนอขออนุมัติซื้อที่ดินรายนี้ต่ออธิบดีกรมตำรวจ ตามเอกสารหมาย จ.50 และทำบันทึกเพื่อให้อธิบดีกรมตำรวจลงนามขออนุมัติต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย ตามเอกสารหมายจ.51 ด้วยข้อความที่ไม่เป็นความจริง ทำให้พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์อธิบดีกรมตำรวจ และนายพ่วง สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เชื่อว่าที่ดินที่ขออนุมัติซื้อเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี และเชื่อว่าราคาที่เสนอขายต่ำกว่าราคาประเมิน พลตำรวจเอกประเสริฐจึงลงนามในบันทึกเสนอต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย และนายพ่วงก็ได้อนุมัติให้ซื้อที่ดินรายนี้ได้พิเคราะห์แล้ว ในเรื่องเจ้าของที่ดิน ปรากฏว่าบันทึกเอกสารหมาย จ.50มีข้อความว่า “ได้ติดต่อเจ้าของที่ดินแปลงนี้ คือห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอนแทรเวิล เอเย่นซี ซึ่งยินดีเสนอขายให้กับกรมตำรวจทั้งหมดตารางวาละ3,150 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 30,548,700 บาท” ส่วนบันทึกเอกสารหมาย จ.51 คงมีข้อความว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี เป็นผู้เสนอขายที่ดิน หามีข้อความแสดงว่าห้างดังกล่าวเป็นเจ้าของที่ดินไม่เห็นได้ว่าถ้าข้อเท็จจริงที่ว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินเป็นข้อสาระสำคัญแล้ว เอกสารหมาย จ.51 ก็น่าจะระบุไว้ด้วย พิจารณาบันทึกของจำเลยที่ 1 เสนอขออนุมัติซื้อที่ดินต่ออธิบดีกรมตำรวจในสำนวนคดีที่สามเอกสารหมาย จ.71และบันทึกที่จำเลยที่ 1 ทำไปให้อธิบดีกรมตำรวจลงนามเสนอขออนุมัติต่อกระทรวงมหาดไทยในสำนวนคดีที่สองและคดีที่สามเอกสารหมาย จ.30 และ จ.32 ตามลำดับ ก็ไม่มีข้อความว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินที่มีผู้เสนอขายเช่นเดียวกัน แต่อธิบดีกรมตำรวจและกระทรวงมหาดไทยก็หาได้ทักท้วงสอบถามความข้อนี้ไม่ สนับสนุนให้เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินที่เสนอขายมิใช่ข้อสารสำคัญ พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ในการเสนอขายที่ดินนั้นใครจะเป็นเจ้าของที่ดินในขณะเสนอขายไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อตกลงซื้อขายแล้วผู้ขายจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อได้ และเบิกความถึงการจัดซื้อที่ดินรายนี้ว่า พยานเข้าใจว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี มีวัตถุประสงค์ในการซื้อขายที่ดินได้ ส่วนที่ดินที่เสนอขายเป็นของห้างหรือของใคร พยานไม่สนใจ ดังนี้ เห็นได้ว่าพลตำรวจเอกประเสริฐหาได้ลงชื่อในบันทึกเสนอกระทรวงมหาดไทยไปเพราะหลงเชื่อว่าที่ดินเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซีไม่แม้พลตำรวจเอกประเสริฐเบิกความอีกว่า ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี ไม่มีวัตถุประสงค์ในการซื้อขายที่ดิน และที่ดินที่เสนอขายก็ไม่ใช่ของห้างเช่นนี้ พยานก็จะไม่ลงชื่อขออนุมัติซื้อที่ดินรายนี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็เป็นเรื่องพลตำรวจเอกประเสริฐเกรงว่าผู้เสนอขายจะไม่อาจโอนที่ดินให้ได้เท่านั้น ซึ่งไม่มีข้อขัดข้องในเรื่องนี้และเมื่อข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินเป็นของห้างหรือไม่ พลตำรวจเอกประเสริฐเบิกความว่าไม่สนใจเสียแล้วก็จะมีกรณีลงชื่อไปโดยหลงเชื่อว่าที่ดินเป็นของห้างมิได้ ส่วนนายพ่วง สุวรรณรัฐ ซึ่งเบิกความเป็นพยานโจทก์ก็มิได้เบิกความว่าหลงเชื่อว่าที่ดินที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี เสนอขายเป็นที่ดินของห้างนั้นแต่อย่างใด เห็นว่าข้อเท็จจริงที่ว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินที่เสนอขาย มิใช่ข้อสารสำคัญ จำเลยที่ 1 ทำบันทึกเอกสารหมาย จ.50 และจ.51 โดยมิได้ประสงค์เพื่อให้พลตำรวจเอกประเสริฐและนายพ่วงหลงเชื่อว่าที่ดินเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี ผู้เสนอขาย และบุคคลทั้งสองดังกล่าวก็มิได้หลงเชื่อเช่นนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ทำบันทึกเอกสารหมาย จ.50 จ.51 ด้วยข้อความที่ไม่เป็นความจริง ทำให้พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ และนายพ่วงสุวรรณรัฐ หลงเชื่อว่าราคาที่ดินที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซีเสนอขายต่ำ กว่าราคาประเมินนั้น ได้ความว่าเจ้าพนักงานที่ดินนครหลวง-กรุงเทพธนบุรี ได้แจ้งราคาประเมินที่ดินมายังจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.49 ว่าที่ดินย่านถนนสายกรุงเทพ-ดอนเมือง ติดถนนลึกจากริมถนนเข้าไปไม่เกิน 80 เมตร ราคาตารางวาละ 2,500 – 4,000 บาท ที่ดินติดถนนซอยสาธารณะที่แยกจากถนนสายกรุงเทพ-ดอนเมือง ลึกจากริมถนนเข้าไปไม่เกิน40 เมตร ราคาตารางวาละ 800 – 1,500 บาท และได้ความว่าที่ดิน 18 โฉนดที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี เสนอขายตั้งอยู่ติดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ (กรุงเทพ-ดอนเมือง) เพียง 6 โฉนด เนื้อที่รวม 7 ไร่ 1 งาน94 ตารางวา ส่วนที่ดินอีก 12 โฉนด เนื้อที่ 16 ไร่ 3 งาน 4 ตารางวา ตั้งอยู่ห่างถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ประมาณ 300 – 400 เมตร ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอนแทรเวิล เอเย่นซี เสนอขายในราคาตารางวาละ 3,150 บาทเท่ากันหมด ปรากฏตามหนังสือเสนอขายที่ดินเอกสารหมาย จ.43 พร้อมแผนผังที่ดินเอกสารหมาย จ.46 แต่จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกเอกสารหมาย จ.50 เสนออธิบดีกรมตำรวจว่า ราคาที่ดินที่เสนอขายต่ำกว่าราคาที่สำนักงานที่ดินประเมินมา และทำบันทึกเอกสารหมาย จ.51 แนบไปให้อธิบดีกรมตำรวจลงนามเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยมีข้อความทำนองเดียวกัน พิเคราะห์แล้วเอกสารหมาย จ.50 ได้แนบหนังสือเสนอขายที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัดอิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี และหนังสือของเจ้าพนักงานที่ดินที่แจ้งราคาประเมินที่ดินไปด้วย ส่วนเอกสารหมาย จ.51 นายพ่วง สุวรรณรัฐ ก็เบิกความว่ามีเอกสารประกอบมาด้วย มิใช่มีเพียงบันทึกมาแผ่นเดียว แสดงว่าเอกสารหมายจ.51 ได้แนบหนังสือเสนอขายที่ดินและหนังสือแจ้งราคาประเมินที่ดินไปด้วยเช่นเดียวกัน ปรากฏว่าหนังสือเสนอขายที่ดินเอกสารหมาย จ.43 ระบุว่าที่ดินที่เสนอขายด้านหน้าติดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ กว้าง 113 เมตร ด้านข้างมีความยาว 370 เมตร และแผนผังที่ดินเอกสารหมาย จ.46 ระบุว่าใช้มาตราส่วน 1 ต่อ 1,000 ดังนี้ พลตำรวจเอกประเสริฐและนายพ่วงย่อมเห็นได้แล้วว่าที่ดินที่เสนอขายหาอยู่ในระยะ 80 เมตรจากถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ทั้งหมดไม่ จำเลยที่ 1 เสนอข้อเท็จจริงอันเป็นข้อมูลที่จะพิจารณาราคาประเมินเปรียบเทียบราคาเสนอขายครบถ้วนแล้ว ประกอบกับที่ดินทั้ง 18 โฉนดติดต่อเป็นผืนเดียวกันติดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ มีเหตุให้เข้าใจว่าต้องถือราคาประเมินเป็นที่ดินติดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ทั้งหมด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ทำบันทึกเอกสารหมาย จ.50 และ จ.51 ด้วยเจตนาให้พลตำรวจเอกประเสริฐและนายพ่วงหลงเชื่อว่าราคาที่ดินที่เสนอขายต่ำกว่าราคาประเมิน ทั้งพลตำรวจเอกประเสริฐก็เบิกความว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำรายงานหลอกลวงพยานให้หลงเชื่อ พยานตำรวจดูเอกสารและราคาที่ดินที่จำเลยที่ 1 เสนอไปเห็นว่าเป็นราคาสมควรและเป็นที่ดินเหมาะสมแล้วจึงทำหนังสือขออนุมัติไปยังกระทรวงมหาดไทย และนายพ่วงก็เบิกความว่า พยานพิจารณาแล้วเห็นว่าราคาเป็นไปตามที่เสนอมาจึงอนุมัติ เห็นได้ว่าพลตำรวจเอกประเสริฐและนายพ่วงหาได้หลงเชื่อเรื่องราคาตามบันทึกเอกสารหมาย จ.50 จ.51 ไม่การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบถึงพยานหลักฐานที่แสดงว่า จำเลยที่ 1เข้าไปมีส่วนได้เสียในการจัดซื้อที่ดินรายนี้ต่อไปว่า การซื้อขายที่ดินรายนี้ค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมก็ดี ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการซื้อขายที่ดินก็ดี นายสุจินต์ เบญจรงคกุล พวกของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินจัดซื้อและรับผลประโยชน์ทั้งสิ้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซีเป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายกับทางราชการกรมตำรวจเพียงแต่ในนาม เมื่อกรมตำรวจได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว นายสุจินต์ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินสดจำนวน 2,300,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 เข้าไปมีส่วนได้เสียร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี ข้อเท็จจริงในข้อนี้ได้ความว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี จดทะเบียนเมื่อวันที่14 กุมภาพันธ์ 2515 มีหุ้นส่วน 2 คน คือ นายเสรี เชาว์นิธิ หรือ เชาวนิทธิเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กับนางสาวปราณี ธูปสถิตย์ เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.171 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2515ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี โดยนายเสรี เชาว์นิธิ ได้ยื่นหนังสือเสนอขายที่ดินรายนี้แก่กรมตำรวจตามเอกสารหมาย จ.43 ขณะนั้นที่ดินที่เสนอขายยังไม่เป็นของห้าง ต่อมามีการติดต่อซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมมาเป็นของห้างโดยมีการโอนผ่านผู้ที่มิใช่ผู้ซื้อที่แท้จริงด้วย เพื่อให้เห็นว่าห้างผู้เสนอขายได้ซื้อที่ดินมาในราคาใกล้เคียงกับที่เสนอขายแก่กรมตำรวจวันที่ 4 กันยายน 2515 ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี โอนขายที่ดินแก่กรมตำรวจในราคา 30,548,700 บาท ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2515นายสุจินต์ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 2,300,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมายจ.66 และมีผู้นำเช็คฉบับนี้เข้าบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาถนนเพชรบุรี เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2515 ตามเอกสารหมาย จ.67 ครั้นวันที่ 27 กันยายน 2515 ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอนแทรเวิล เอเย่นซี ได้รับเงินค่าที่ดิน 30,243,213 บาท จากกรมตำรวจตามเช็คเอกสารหมาย จ.63 โดยนอกนั้นถูกหักเป็นค่าภาษีไว้ นายสุจินต์เป็นผู้นำเช็คเข้าบัญชีของห้างดังกล่าวปรากฏตามรายการด้านหลังเช็ค ต่อมาวันที่ 29กันยายน 2515 ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 30,243,213 บาท ที่รับมาจากกรมตำรวจทั้งหมดให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดยูไนเต็ด อุตสาหกรรม (ยูไนเต็ดอินดัสตรี) ซึ่งมีนายสุจินต์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโดยนายสุจินต์เป็นผู้ร่วมลงชื่อในเช็คนั้นด้วย และเป็นผู้นำเช็คไปเข้าบัญชีของห้างผู้รับเงิน ปรากฏตามเช็คและรายการด้านหลังเช็คเอกสารหมาย จ.65พิเคราะห์แล้ว ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่านายสุจินต์เป็นผู้ขายที่ดินรายนี้แก่กรมตำรวจที่แท้จริง และเงิน 2,300,000 บาท นายสุจินต์จ่ายให้จำเลยที่ 1ในการที่จำเลยที่ 1 เข้าไปมีส่วนได้เสียร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอนแทรเวิล เอเย่นซี โจทก์คงมีพยานหลักฐานเพียงว่า นายสุจินต์เป็นผู้ได้รับเงินค่าที่ดินไปทั้งหมด และได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 2,300,000 บาทให้จำเลยที่ 1เท่านั้น แต่นายเสรี เชาว์นิธิ และนางสาวปราณี ธูปสถิตย์ พยานโจทก์เบิกความว่า นายพารา มานาทาน ชาวต่างประเทศซึ่งออกจากประเทศไทยไปแล้วหลังจากการขายที่ดินรายนี้เป็นผู้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอนแทรเวิล เอเย่นซี ขึ้น และเป็นผู้ดำเนินการของห้างที่แท้จริง นายเสรีเบิกความต่อไปว่า การขายที่ดินแก่กรมตำรวจนั้น นายพารา มานาทาน เป็นผู้ดำเนินการโดยนายเสรีไม่ทราบว่าทำการซื้อขายกับใคร นายพารา มานาทาน เป็นผู้นำเอกสารเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินรายนี้มาให้นายเสรีลงชื่อไป เห็นว่าตามคำพยานโจทก์ดังกล่าวนี้ผู้ขายที่ดินแก่กรมตำรวจที่แท้จริงคือนายพารา มานาทาน หาใช่นายสุจินต์ดังโจทก์อ้างไม่ ที่โจทก์อ้างว่านายสุจินต์จ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 เข้าไปมีส่วนได้เสียร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดอิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี นั้น เมื่อนายสุจินต์มิใช่ผู้ขายที่ดิน นายสุจินต์ก็ไม่มีเหตุที่จะจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 เข้ามีส่วนได้เสียร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซีด้วย ทั้งเงินที่นายสุจินต์จ่ายให้จำเลยที่ 1 ก็มิใช่ค่าที่ดินที่กรมตำรวจจ่ายมา เพราะกรมตำรวจเพิ่งจ่ายเงินค่าที่ดินให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด อิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี หลังจากนายสุจินต์ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 2,300,000 บาท และนำเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 เรียบร้อยแล้ว แสดงว่าเงินสองจำนวนนี้น่าจะไม่เกี่ยวข้องกัน นอกจากนั้นแม้ได้ความว่าที่ดินรายนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัดอิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี ซื้อมาจากนายบัณฑิตกับพวกส่วนหนึ่งในราคา 16,115,000 บาท และอีกส่วนหนึ่งโจทก์นำสืบว่าห้างดังกล่าวซื้อมาจากนายมี นางสาวละเมียดในราคาเพียง889,875 บาท รวมเป็นราคาซื้อ 17,004,875 บาท แต่ขายให้กรมตำรวจได้เป็นเงินถึง 30,548,700 บาท สูงกว่าราคาซื้อมาก แต่โจทก์ก็หามีพยานหลักฐานนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ช่วยเหลือผู้ขายที่ดินรายนี้อย่างไร อันควรจะได้รับค่าตอบแทนไม่ ฝ่ายจำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ว่าเหตุที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี จ่ายเงินที่ได้จากการขายที่ดินให้นายสุจินต์ทั้งหมดเพราะนายพารา มานาทาน กู้เงินนายสุจินต์ไป 2 ครั้ง เพื่อนำไปซื้อที่ดินแต่ขายที่ดินแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้และดอกเบี้ย นายพารา มานาทานจึงจ่ายเงินทั้งหมดที่ได้รับมาให้แก่นายสุจินต์ ปรากฏตามคำเบิกความของนายสุจินต์ในคดีของศาลแพ่งตามเอกสารหมาย ล.57 และจำเลยที่ 1 ยังนำสืบว่า จำเลยที่ 1 กับนายสุจินต์ได้ร่วมกันซื้อที่ดินที่อำเภอปากช่องจังหวัดนครราชสีมา ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.42 การที่นายสุจินต์ออกเช็คจ่ายเงิน 2,300,000 บาทให้จำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้นำไปชำระค่าที่ดินดังกล่าว ดังนี้เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังเลื่อนลอยไม่พอฟังว่า นายสุจินต์เป็นผู้ขายที่ดินรายนี้แก่กรมตำรวจ และไม่พอฟังว่านายสุจินต์จ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 เข้าไปมีส่วนได้เสียร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดอิสเทอน แทรเวิล เอเย่นซี หาจำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่ศาลฎีกาเห็นว่า สำนวนคดีแรกพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอให้ฟังว่าจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมตำรวจ และเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยการดำเนินการจัดซื้อที่ดินรายนี้ ไม่ต้องวินิจฉัยว่ากรมตำรวจได้รับความเสียหายเท่าใด ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในสำนวนคดีแรกมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ในสำนวนนี้ฟังขึ้น

สำนวนคดีที่สองได้ความว่า เมื่อ พ.ศ. 2513 นายสมาส อมาตยกุลนางกุนตี เพ็ญยโชติ นางอนงค์ ภูมิวาร เสนอขายที่ดินแก่กรมตำรวจเพื่อสร้างศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเขต 5 ที่จังหวัดเชียงใหม่ จำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้ากองตำรวจดับเพลิงได้รับหนังสือแล้ว มีหนังสือสอบถามราคาที่ดินไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อได้รับแจ้งแล้วจำเลยที่ 1 พันตำรวจเอกตระหนัก เทพวัลย์ ร้อยตำรวจเอกกสิณ รัตนวิเชียร และร้อยตำรวจเอกสุรัติถนอมกุล ได้ร่วมกันทำบันทึกเสนออธิบดีกรมตำรวจว่าควรซื้อที่ดินที่นางอนงค์เสนอขาย และขออนุมัติซื้อที่ดินรายนี้พร้อมกับแนบบันทึกเพื่ออธิบดีกรมตำรวจลงนามขออนุมัติต่อกระทรวงมหาดไทยไปด้วย พลตำรวจเอกประวิทย์ รุจิรวงศ์อธิบดีกรมตำรวจได้ลงนามในบันทึกที่แนบไปเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยครั้นวันที่ 21 มิถุนายน 2514 พลเอกประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อนุมัติให้ซื้อที่ดินรายนี้ได้ โดยให้จำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้ากองตำรวจดับเพลิงเป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายและรับโอนที่ดินตามที่เสนอวันที่ 24 มิถุนายน 2514 นางอนงค์ได้ทำสัญญาซื้อขายกับกรมตำรวจ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาแทนกรมตำรวจ ขณะนั้นที่ดินที่นางอนงค์เสนอขายรวม 4 โฉนดติดต่อกันยังมิได้เป็นของนางอนงค์ โดยที่ดิน 3 โฉนดเป็นของนางกุนตี เพ็ญยโชติ ร่วมกับนายกอบเกียรติ รักเผ่าพันธ์ ส่วนอีก 1 โฉนดเป็นของนางกุนตีผู้เดียว ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2514 นางกุนตีและนายกอบเกียรติจึงโอนขายที่ดินทั้ง 4 โฉนดให้แก่นางอนงค์ ระบุราคาในหนังสือสัญญาขายที่ดินเป็นเงินรวม 223,200 บาท ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ 29มิถุนายน 2514 นางอนงค์ได้โอนขายที่ดิน 4 โฉนดดังกล่าวแก่กระทรวงการคลังเพื่อใช้ในราชการกรมตำรวจ ในราคา 1,835,500 บาท แต่ต่อมาปรากฏตามการรังวัดว่าที่ดินขาดไป 1 ตารางวา นางอนงค์จึงคืนเงินให้แก่กรมตำรวจ500 บาท

โจทก์นำสืบว่า ในการจัดซื้อที่ดินรายนี้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหลายประการ แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมตำรวจ และแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยการดำเนินการจัดซื้อที่ดินรายนี้ประการแรกโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 จัดซื้อที่ดินโดยไม่ติดต่อโดยตรงกับเจ้าของที่ดินเป็นการฝ่าฝืนมติของคณะรัฐมนตรี และไม่สอบถามเจ้าพนักงานที่ดินว่าที่ดินที่นางอนงค์เสนอขายเป็นของนางอนงค์หรือไม่ ซึ่งข้อนี้ได้วินิจฉัยมาในสำนวนคดีแรกแล้วว่า การจัดซื้อที่ดินโดยมิได้ติดต่อโดยตรงกับเจ้าของที่ดินหาเป็นการฝ่าฝืนมติของคณะรัฐมนตรีไม่ และเมื่อเป็นการซื้อที่ดินโดยมิใช่ติดต่อโดยตรงกับเจ้าของที่ดิน ก็ไม่จำเป็นต้องสอบถามไปยังเจ้าพนักงานที่ดินว่าผู้เสนอขายเป็นเจ้าของที่ดินที่เสนอขายหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 มิได้สอบถามไปเช่นนั้น ไม่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโจทก์อ้างด้วยว่าที่จำเลยที่ 1 บันทึกเสนออธิบดีกรมตำรวจตามเอกสารหมาย จ.29ว่า สมควรซื้อที่ดินของนางอนงค์นั้น ความจริงนางอนงค์มิได้เป็นเจ้าของที่ดินที่เสนอขาย ทำให้พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจเชื่อตามบันทึกของจำเลยที่ 1 จึงลงชื่อในบันทึกเสนอกระทรวงมหาดไทยขออนุมัติซื้อที่ดินของน

Share