คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1414/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดเป็นของโจทก์ โจทก์ซื้อจากผู้มีชื่อจำเลยเป็นผู้อาศัยเจ้าของเดิมอยู่ จำเลยไม่ยอมออก ขอให้ขับไล่ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ ศาลชั้นต้นพิพาทว่าที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์ จำเลยซึ่งอ้างว่าครอบครองที่พิพาทโดยปรปักษ์ ไม่เคยจดทะเบียนสิทธิที่พิพาทเป็นของจำเลย จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งได้ที่พิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299, 1300 ปัญหาข้อนี้จึงถือได้ว่าได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น
จำเลยย่อมยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ หาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร ให้รื้อเรือนออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวาร ให้รื้อเรือนออกไปจากที่พิพาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับโอนที่พิพาทมาโดยไม่สุจริต จึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙, ๑๓๐๐ มาใช้บังคับในคดีนี้ไม่ได้ จำเลยได้ครอบครองที่พิพาทโดยปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่จำเลย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ในคำให้การของจำเลยไม่ได้ตั้งประเด็นต่อสู้ว่า โจทก์รับโอนที่พิพาทมาโดยไม่สุจริตไว้ เมื่อจำเลยมิได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยย่อมไม่อาจยกขึ้นอ้างอิงในชั้นอุทธรณ์ได้ เพราะมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ ศาลอุทธรณ์จึงไม่รับวินิจฉัยให้ พิพากษาให้ยกอุทธรณ์จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดเป็นของโจทก์ โดยโจทก์ได้ซื้อมาจากนางทองหยิบ นายอุดม นายประดิษฐ์ จำเลยทั้งสามเป็นผู้อาศัยเจ้าของเดิมอยู่ในที่พิพาท โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์แล้ว จำเลยไม่ยอมออกไป จึงขอให้ขับไล่จำเลย จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาทอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์ จำเลยซึ่งอ้างว่าครอบครองที่พิพาทโดยปรปักษืไม่เคยจดทะเบียนสิทธิที่พิพาทเป็นของจำเลย จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งได้ทีพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙, ๑๓๐๐ ปัญหาข้อนี้จึงถือได้ว่าได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยย่อมยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอ้างอิงในชั้นอุทธรณ์ได้ หาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ ดงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้ แล้วพิพากษาชี้ขาดไปตามรูปความ

Share