แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะถูกศาลสั่งให้เลิกบริษัทแล้วแต่ก็ยังหาได้สิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคลไปทันทีไม่ว่าจะยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคลอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1249เมื่อโจทก์ยังมีสภาพเป็นนิติบุคคลอยู่และยังอยู่ในระหว่างการชำระบัญชีโจทก์ก็ย่อมจะรับสิทธิตามสัญญาเช่าเดิมที่ทำไว้กับม. และอ. ได้ แม้ในสัญญาเช่าช่วงอาคารพิพาทระหว่างโจทก์โดยผู้ชำระบัญชีผู้ให้เช่าช่วงกับด.ผู้เช่าช่วงจะมีข้อตกลงว่าด.ให้เงินค่าตอบแทนแก่โจทก์ก็ดีกำหนดให้อายุของสัญญาเช่าช่วงเท่ากับอายุของสัญญาเช่าที่เหลืออยู่จากการที่โจทก์ทำสัญญาเช่าเดิมก็ดีหรือกำหนดให้สิทธิและหน้าที่ซึ่งโจทก์มีอยู่ตามสัญญาซึ่งเดิมตกเป็นของด.ก็ตามล้วนแต่เป็นข้อตกลงอันเกิดจากสัญญาเช่าช่วงระหว่างโจทก์กับด.ทั้งสิ้นคู่สัญญาย่อมทำข้อตกลงให้ผูกพันกันได้เจตนาของคู่สัญญาให้มีผลผูกพันอย่างการเช่าช่วงก็ย่อมต้องเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญานั้นหาทำให้ข้อความในสัญญาแปรเปลี่ยนไปเป็นการขายหรือโอนสิทธิการเช่าไม่ยิ่งเมื่อพิจารณาจากสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับม.และอ. ข้อ6และข้อ7แล้วจะเห็นได้ว่าในข้อ7นั้นเป็นกรณีที่ผู้ให้เช่าตกลงยอมให้ผู้เช่านำอาคารที่เช่าบางส่วนหรือทั้งหมดให้บุคคลอื่นเช่าช่วงได้แต่ในข้อ6เป็นกรณีที่ผู้เช่าจะโอนสิทธิให้บุคคลอื่นจะต้องจ่ายค่าแก้ไขสัญญาเช่าให้ผู้ให้เช่าครั้งละ2,000บาทดังนั้นในกรณีโอนสิทธิการเช่าจึงต้องมีการแก้ไขสัญญาให้ผู้ที่จะรับโอนสิทธิการเช่าเข้าเป็นคู่สัญญากับผู้ให้เช่าโดยตรงแต่โจทก์หาได้แก้ไขสัญญาให้ด.ไปผูกพันเป็นคู่สัญญากับผู้ให้เช่าโดยตรงไม่สัญญาระหว่างโจทก์กับด.จึงมิใช่การโอนสิทธิการเช่าโจทก์ยังมีสิทธิในฐานะคู่สัญญากับม. และอ. อยู่ย่อมอ้างถึงสิทธิตามสัญญาเช่าเดิมที่ทำไว้นั้นได้ แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบอธิบายว่าการโอนสิทธิการเช่าให้ม.เกี่ยวข้องกับการชำระบัญชีอย่างไรแต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าม.เป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของด.ผู้เช่าช่วงเมื่อด.ถึงแก่กรรมไปโจทก์และม.ยังมีเจตนาจะให้มีความผูกพันกันตามสัญญาเช่าช่วงที่โจทก์ทำไว้กับด.ต่อไปไม่ว่าจะเป็นเพราะสัญญาเช่าช่วงระหว่างโจทก์กับด. เลิกกันไปเพราะความตายของด.แล้วโจทก์ยินยอมให้ม.สืบสิทธิของด.ต่อไปในฐานะผู้จัดการมรดกของด.โดยวิธีโอนสิทธิการเช่าของโจทก์ให้เลยทีเดียวหรือในฐานะส่วนตัวของม.ที่ขอโอนสิทธิการเช่ากับโจทก์ก็ตามผู้ชำระบัญชีของโจทก์ย่อมมีอำนาจกระทำได้เพราะเป็นการจำหน่ายสิทธิในการเช่าซึ่งเป็นทรัพย์สินและเป็นการชำระสะสางกิจการของโจทก์ให้เสร็จสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1250และ1259(2)(3)โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จดทะเบียนการเช่าอาคารตึกแถวเลขที่ 596/8 ถนนพระราม 4 แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรักกรุงเทพมหานคร จากนายมงคล บูรณะไทย และนายอุดม บูรณะไทยเจ้าของกรรมสิทธิ์ มีกำหนด 20 ปี และระบุไว้ในสัญญาเช่าว่าหากผู้เช่าประสงค์จะโอนสิทธิการเช่าให้บุคคลอื่น ผู้เช่าต้องชำระค่าแก้ไขสัญญาเช่าให้ผู้ให้เช่าครั้งละ 2,000 บาท และผู้เช่ามีสิทธิให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้ ต่อมานายมงคลและนายอุดมได้นำที่ดินกับอาคารพิพาทไปจำนองธนาคารศรีนคร จำกัด และถูกธนาคารบังคับจำนองที่ดินกับอาคารพิพาทออกขายทอดตลาด จำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินกับอาคารพิพาท ต่อมาโจทก์ประสงค์จะโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้นายมานะ เกียรติเชิดแสงสุข จึงมีหนังสือถึงจำเลยขอโอนสิทธิการเช่า แต่จำเลยปฏิเสธ ขอให้บังคับจำเลยแก้ไขสัญญาเช่าอาคารเลขที่ดังกล่าวข้างต้นจากโจทก์ ซึ่งเป็นผู้เช่าเดิม เป็นนายมานะ เกียรติเชิดแสงสุข โดยจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาตามเดิม กับให้จำเลยรับเงินค่าแก้สัญญา 2,000 บาท จากโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์หมดสภาพนิติบุคคลเพราะถูกศาลสั่งให้เลิกบริษัทแล้ว ตั้งแต่ปี 2528 เมื่อผู้เช่าหมดสภาพนิติบุคคลสัญญาเช่าจึงระงับลงนายทวี ธีรเสนี ผู้ชำระบัญชีไม่มีอำนาจจัดการเรื่องการเช่านี้ และการโอนสิทธิการเช่ามิใช่เรื่องการชำระบัญชีของบริษัท นายทวีจึงไม่มีอำนาจจัดการและโจทก์โดยผู้ชำระบัญชีได้โอนสิทธิการเช่าให้แก่นายดำริ เกียรติเชิดแสงสุขเป็นผู้เช่าช่วงไปเมื่อปี 2528 และในปี 2531 นายดำริถึงแก่กรรมสิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของนายดำริ โจทก์จึงไม่อาจบังคับจำเลยให้โอนสิทธิการเช่าให้แก่นายมานะ เกียรติเชิดแสงสุขผู้จัดการมรดกของนายดำริได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแก้ไขสัญญาเช่าอาคารเลขที่596/8 ถนนพระราม 4 แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพมหานครจากชื่อโจทก์ผู้เช่าเดิม เป็นนายมานะ เกียรติเชิดแสงสุข มีเงื่อนไขการเช่าและเงื่อนไขเวลาตามสัญญาเดิม โดยให้จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และให้จำเลยรับเงินค่าแก้ไขสัญญา2,000 บาท จากโจทก์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม2528 โจทก์จดทะเบียนการเช่าอาคารพิพาทเลขที่ 596/8 ถนนพระราม 4แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร จากนายมงคล บูรณะไทยและนายอุดม บูรณะไทย เจ้าของที่ดินและอาคารมีกำหนดการเช่า20 ปี โดยมีข้อสัญญาว่าผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าอาคารพิพาทให้บุคคลอื่นเช่าช่วงได้ และหากผู้เช่าประสงค์จะโอนสิทธิการเช่าให้บุคคลอื่นผู้เช่าต้องจ่ายค่าแก้ไขสัญญาให้ผู้ให้เช่าครั้งละ2,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ต่อมาในปี 2528 ศาลชั้นต้นสั่งให้เลิกบริษัทโจทก์ และตั้งนายทวี ธีรเสนีเป็นผู้ชำระบัญชีตามเอกสารหมาย จ.5 ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2528 โจทก์โดยนายทวีได้ทำสัญญาให้นายดำริ เกียรติเชิดแสงสุข เช่าช่วงอาคารพิพาทตลอดระยะเวลาเช่าที่เหลืออยู่ ตามเอกสารหมาย ล.2 ต่อมาวันที่28 มกราคม 2531 นายดำริถึงแก่กรรม และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งให้นายมานะ เกียรติเชิดแสงสุขบุตรชายของนายดำริเป็นผู้จัดการมรดกของนายดำริตามเอกสารหมาย ล.3 ปรากฏว่าในปี2533 ธนาคารศรีนคร จำกัด เจ้าหนี้ผู้รับจำนองของนายมงคลและนายอุดมได้ฟ้องบังคับจำนองและนำยึดที่ดินและอาคารพิพาทออกขายทอดตลาด จำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินและอาคารพิพาทได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวและจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่24 พฤษภาคม 2533 โจทก์โดยนายทวีประสงค์จะโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่นายมานะจึงแจ้งให้จำเลยทราบเพื่อแก้ไขสัญญาตามเอกสารหมาย จ.8
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า เมื่อโจทก์ถูกศาลชั้นต้นสั่งให้เลิกบริษัทและตั้งผู้ชำระบัญชีแล้ว ยังมีสภาพเป็นนิติบุคคลที่จะอ้างสิทธิตามสัญญาเช่าอาคารพิพาทตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ได้อยู่หรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249 บัญญัติว่า “ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้โจทก์จะถูกศาลสั่งให้เลิกบริษัทแล้ว แต่ก็ยังหาได้สิ้นสภาพเป็นนิติบุคคลไปทันทีไม่จะยังคงมีสภาพเป็นนิติบุคคลอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีเมื่อโจทก์ยังมีสภาพเป็นนิติบุคคลอยู่และยังอยู่ในระหว่างการชำระบัญชีที่ย่อมจะรับสิทธิตามสัญญาเช่าที่ทำไว้กับนายมงคลและนายอุดมตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ได้โอนขายสิทธิการเช่าให้นายดำริแล้วตามเอกสารหมาย ล.2โจทก์ย่อมไม่สามารถอ้างสิทธิตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.6 และจ.7 ได้อีกนั้น เห็นว่าตามเอกสารหมาย ล.2 เป็นสัญญาเช่าช่วงอาคารพิพาทระหว่างโจทก์โดยนายทวีผู้ชำระบัญชีผู้ให้เช่าช่วงกับนายดำริผู้เช่าช่วง แม้ในสัญญาจะมีข้อตกลงว่านายดำริผู้เช่าช่วงให้เงินค่าตอบแทนแก่โจทก์ก็ดี กำหนดให้อายุของสัญญาเช่าช่วงเท่ากับอายุของสัญญาเช่าที่เหลืออยู่จากการที่โจทก์ทำสัญญาเช่าตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ก็ดี หรือกำหนดให้สิทธิและหน้าที่ซึ่งโจทก์มีอยู่ตามสัญญาซึ่งเดิมตกเป็นของนายดำรตามที่จำเลยฎีกาก็ตาม ล้วนแต่เป็นข้อตกลงอันเกิดจากสัญญาเช่าช่วงระหว่างโจทก์กับนายดำริทั้งสิ้น ซึ่งคู่สัญญาย่อมทำข้อตกลงให้ผูกพันกันได้ เจตนาของคู่สัญญาให้มีผลผูกพันอย่างการเช่าช่วงก็ย่อมต้องเป็นไปตามเจตนาของคู่สัญญานั้น หาทำให้ข้อความในสัญญาแปรเปลี่ยนไปเป็นการขายหรือโอนสิทธิการเช่าไม่ยิ่งเมื่อพิจารณาจากสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนายมงคลและนายอุดม ตามเอกสารหมายจ.6 ข้อ 6 และข้อ 7 แล้ว จะเห็นได้ว่าในข้อ 7 นั้นเป็นกรณีที่ผู้ให้เช่าตกลงยอมให้ผู้เช่านำอาคารที่เช่าบางส่วนหรือทั้งหมดให้บุคคลอื่นเช่าช่วงได้ แต่ในข้อ 6 เป็นกรณีที่ผู้เช่าจะโอนสิทธิให้บุคคลอื่น จะต้องจ่ายค่าแก้ไขสัญญาเช่าให้ผู้ให้เช่าครั้งละ2,000 บาท ดังนั้น ในกรณีโอนสิทธิการเช่าจึงต้องมีการแก้ไขสัญญาให้ผู้ที่จะรับโอนสิทธิการเช่าเข้าเป็นคู่สัญญากับผู้ให้เช่าโดยตรง แต่โจทก์หาได้แก้ไขสัญญาให้นายดำริไปผูกพันเป็นคู่สัญญากับผู้ให้เช่าโดยตรงไม่ สัญญาระหว่างโจทก์กับนายดำริจึงมิใช่การโอนสิทธิการเช่า โจทก์ยังมีสิทธิในฐานะคู่สัญญากับนายมงคลและนายอุดมอยู่ ย่อมอ้างถึงสิทธิตามสัญญาเอกสารหมายจ.6 และ จ.7 ที่ทำไว้นั้นได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าการโอนสิทธิตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ให้นายมานะเกี่ยวข้องกับการชำระบัญชีอย่างไร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าแม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบอธิบายโดยละเอียดว่าการโอนสิทธิการเช่าให้นายมานะเกี่ยวข้องกับการชำระบัญชีอย่างไร แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายมานะเป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของนายดำริ เมื่อนายดำริถึงแก่กรรมไป โจทก์และนายมานะยังมีเจตนาจะให้มีความผูกพันกันตามสัญญาเช่าช่วงที่โจทก์ทำไว้กับนายดำริต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเพราะสัญญาเช่าช่วงระหว่างโจทก์กับนายดำริเลิกกันไปเพราะความตายของนายดำริแล้วโจทก์ยินยอมให้นายมานะสืบสิทธิของนายดำริต่อไปในฐานะผู้จัดการมรดกของนายดำริโดยวิธีการโอนสิทธิการเช่าของโจทก์ให้เลยทีเดียวหรือในฐานะส่วนตัวของนายมานะที่ขอโอนสิทธิการเช่ากับโจทก์ก็ตาม นายทวีในฐานะผู้ชำระบัญชีของโจทก์ย่อมมีอำนาจกระทำได้ เพราะเป็นการจำหน่ายสิทธิในการเช่าซึ่งเป็นทรัพย์สินและเป็นการชำระสะสางกิจการของโจทก์ให้เสร็จสิ้นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 และ1259(2)(3) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน