คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2037/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่พิพาทคือที่ดินของโจทก์ที่เหลืออยู่ระหว่างถนนสาธารณะกับที่ดินซึ่งโจทก์แบ่งแยกขายให้จำเลย เมื่อโจทก์ยอมให้กันเป็นเขตถนนสาธารณะซึ่งเป็นการแสดงเจตนาอุทิศให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นนิติกรรมไม่มีแบบ ที่พิพาทย่อมมิใช่ของโจทก์อีกต่อไป การที่เสาหินหลักเขตถนนปักเข้ามาอยู่ใต้ถุนบ้านจำเลย จำเลยจึงมิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งเจ็ดสำนวน โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้ยงต้นว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 4280 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กับนายชนะ ขาวสอาด มีอาณาเขตด้านทิศใต้ติดถนนเทศบาลดำริซึ่งเป็นถนนสาธารณประโยชน์ โจทก์กับนายชนะได้แบ่งแยกที่ดินด้านนี้ขายเป็นแปลง ๆ ตามเนื้อที่ที่มีผู้เช่าปลูกบ้านอยู่มาก่อน แต่ในการรังวัดแบ่งแยกได้มีการร่นเสาหินหลักเขตด้านที่ติดถนนเทศบาลดำริปักล้ำเข้ามาในที่ดินที่ปลูกบ้านประมาณ 90 เซนติเมตร เป็นเส้นตรงยาวตลอดแนวถนนเมื่อจำเลยซื้อที่ดินมาตามที่แบ่งแยก จึงมีที่ดินส่วนที่ร่นเสาหินหลักเขตอยู่หน้าที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นที่พิพาทในคดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ ถ้าหากที่พิพาทยังเป็นของโจทก์บ้านของจำเลยทั้งเจ็ดสำนวนก็ปลูกรุกล้ำที่ดินของโจทก์ จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเป็นข้อแรกว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า บ้านของจำเลยทั้งเจ็ดสำนวนปลูกอยู่ริมถนนเทศบาลดำริมาก่อนที่โจทก์กับนายชนะจะแบ่งแยกที่ดินขาย และถนนเทศบาลดำริเป็นทางออกทางเดียวของจำเลย เมื่อมีการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินก็ตกลงกันไว้ว่าที่ดินที่จะซื้อขายทางด้านทิศใต้ติดถนนเทศบาลดำริ แต่ในการรังวัดแบ่งแยกได้มีการกันที่พิพาทไว้ระหว่างถนนเทศบาลดำริกับที่ดินที่จะซื้อขาย ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามที่จำเลยนำสืบว่า เนื่องจากที่ดินของโจทก์กับนายชนะด้านทิศใต้ติดถนนเทศบาลดำริซึ่งเป็นถนนสาธารณะ ในการรังวัดจึงต้องแจ้งให้แขวงการทางปราจีนบุรีและเทศบาลทราบ ซึ่งนายช่างแขวงการทางปราจีนบุรีได้มอบอำนาจให้ตัวแทนมาเป็นผู้ชี้แนวเขตและรับรองเขตที่ดิน ช่วงแผนที่ผู้ทำการรังวัดได้บันทึกถ้อยคำโจทก์กับนายชนะไว้เป็นหลักฐานในการยินยอมให้รังวัดและรับรองแนวเขตทางหลวงซึ่งได้มีการกันที่ดินเข้าไปในเขตบ้านของจำเลย ดังปรากฏตามบันทึกเอกสารหมาย ล.5, ล.6 และ ล.7 เมื่อเจ้าพนักงานรังวัดแบ่งแยกโฉนดเสร็จ จึงปรากฏว่าเสาหินหลักเขตด้านทิศใต้ปักเข้ามาอยู่ใต้ถุนบ้านของจำเลยประมาณ 70เซนติเมตร ซึ่งแสดงว่าที่ดินที่อยู่ถัดหลักเขตออกไปนั้นโจทก์กับนายชนะยอมให้กันเป็นเขตถนนเทศบาลดำริ หาใช่กันไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กับนายชนะไม่ที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ไม่ได้สละสิทธิในที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยทุกคนไม่ยอมให้โจทก์นำรังวัดแบ่งแยกโฉนดเต็มเนื้อที่ดินที่ปลูกบ้านเนื่องจากเกรงว่าทางราชการจะขยายถนนอีก ที่ดินที่กันไว้จึงยังคงเป็นของโจทก์นั้น ปราศจากเหตุผลอันควรเชื่อ เพราะไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จำเลยจะยอมให้โจทก์กันที่พิพาทไว้เป็นของโจทก์อันเป็นการปิดกั้นทางที่จำเลยจะออกไปสู่ถนนสาธารณะ และยังจะเป็นเหตุให้บ้านของจำเลยปลูกรุกล้ำที่ดินของโจทก์มาตั้งแต่แรกอีกด้วย นอกจากนี้ตามแผนที่หลังโฉนดเลขที่ 4280 เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นโฉนดที่ดินของโจทก์เองก็แสดงไว้โดยชัดแจ้งว่าที่ดินที่โจทก์กับนายชนะแบ่งแยกขายให้จำเลยนั้นทางด้านทิศใต้ติดถนนสาธารณประโยชน์ หาได้มีการกันที่ดินไว้เป็นของโจทก์แต่อย่างใดไม่ ถึงแม้ที่พิพาทจะเคยเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กับนายชนะมาก่อน แต่เมื่อโจทก์กับนายชนะยอมให้กันเป็นเขตถนนสาธารณะ ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาอุทิศให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นนิติกรรมไม่มีแบบ ที่พิพาทย่อมมิใช่ของโจทก์อีกต่อไป จำเลยมิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย”

พิพากษายืน

Share