แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญากู้เงินระหว่างธนาคารโจทก์และจำเลยระบุว่า ในระยะ 3 ปีแรก โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงร้อยละ 7.86 ต่อปีเท่านั้น ต่อจาก 3 ปี นั้นแล้ว จึงมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้แต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงตามกฎหมายแต่ถ้าจำเลยผิดนัดชำระหนี้เมื่อใด โจทก์มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ล่วงพ้น3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินและไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยก่อน ปรากฏว่าหลังจากที่จำเลยกู้เงินโจทก์ได้เพียง 3 เดือนเศษก็ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ต่อมาอีก 5 เดือน โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 19 ต่อปี ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพราะเหตุที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ หาใช่เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นตามปกติโดยอาศัยข้อตกลงในสัญญากู้เงินไม่จึงเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ อันเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 ซึ่งเมื่อศาลได้คำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์แล้วสามารถลดลงเป็นร้อยละ 15ต่อปีได้กรณีมิใช่เป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินอันเป็นดอกผลแต่อย่างใด
แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ 1,700,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.86 ต่อปี มีกำหนด 3 ปี ต่อจากนั้นจำเลยทั้งสองยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราใหม่ที่โจทก์อาจเปลี่ยนแปลงให้สูงขึ้นหรือต่ำลง ทั้งนี้ จำเลยทั้งสองตกลงจะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์เดือนละ 13,600 บาท ให้ครบจำนวนหนี้ภายใน 30 ปี ในการกู้เงินครั้งนี้จำเลยทั้งสองได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 39021 ตำบลเสาธงหินอำเภอบางใหญ่ (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ดังกล่าว โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี มีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า หากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยทั้งสองยอมรับผิดชดใช้เงินส่วนที่ขาดจนครบจำนวน และจำเลยทั้งสองได้เอาประกันภัยทรัพย์สินที่จำนองเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ โดยมีข้อตกลงว่าหากจำเลยทั้งสองไม่ชำระเบี้ยประกันภัยและโจทก์ได้ชำระแทนไป จำเลยทั้งสองยอมชำระคืนให้แก่โจทก์และยอมให้โจทก์ทบเบี้ยประกันภัยเข้ากับต้นเงินได้ นับแต่กู้เงินไปแล้วจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตลอดมา ในระหว่างนั้นโจทก์ได้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 9.86 และร้อยละ 19 ต่อปี โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามและบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์นับถึงวันฟ้องเป็นต้นเงิน 1,692,639.67 บาท กับดอกเบี้ย 212,940.71 บาทรวมเป็นเงิน 1,905,580.38 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 1,905,580.38 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงิน 1,692,639.67 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 39021ตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 1,752,135.42 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,692,639.67 บาท นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 39021 ตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาพอแปลได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2542 จำเลยทั้งสองร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์ 1,700,000 บาท และยอมเสียดอกเบี้ยคงที่ในอัตราร้อยละ 7.86 ต่อปี มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงิน ส่วนระยะเวลาต่อจากนั้นจำเลยทั้งสองยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามอัตราที่โจทก์ประกาศเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบก่อน จำเลยตกลงผ่อนชำระหนี้เดือนละ 13,600 บาท มีกำหนด 30 ปี ทั้งนี้มีข้อสัญญาว่าหากจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราสูงสุดตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์เรื่อยมาจนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 แล้วไม่ชำระหนี้อีกเลย ต่อมาวันที่ 13พฤษภาคม 2543 โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็นร้อยละ 9.86 ต่อปี และวันที่ 8กรกฎาคม 2543 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19 ต่อปี คงมีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2543ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งสองเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจลดลงได้หรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า หนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 1 มีใจความว่าจำเลยทั้งสองยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.86 ต่อปี มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ตามกฎหมายโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยทั้งสองก่อนโจทก์จึงมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 19 ต่อปี โดยอาศัยความตกลงในสัญญาไม่เป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้อันจะถือเป็นเบี้ยปรับนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจดูสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้วมีใจความโดยสรุปว่า ในระยะ 3 ปีแรก โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้เพียงร้อยละ 7.86 ต่อปีเท่านั้น ต่อจาก 3 ปีนั้นแล้ว จึงมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้แต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงตามกฎหมาย แต่ถ้าจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใดโจทก์มีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินและไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยทั้งสองก่อน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากที่จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินโจทก์ได้เพียง 3 เดือนเศษ จำเลยทั้งสองก็ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญา และต่อมาอีกประมาณ 5 เดือน โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 19 ต่อปี ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 3 เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพราะเหตุที่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ หาใช่เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นตามปกติ โดยอาศัยข้อตกลงในสัญญากู้เงินไม่เพราะยังไม่ล่วงพ้นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินที่โจทก์จะมีสิทธิทำเช่นนั้นได้การที่โจทก์เรียกเอาดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยอาศัยข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยสูงขึ้นอันเนื่องแต่การที่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้จึงเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อันเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 มิใช่เป็นการเรียกเอาดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินอันเป็นดอกผลนิตินัยดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่ 9 กรกฎาคม 2543 เป็นเบี้ยปรับซึ่งกำหนดไว้สูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดลงเป็นร้อยละ 15 ต่อปี โดยคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างนั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน