คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2926-2929/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การวันนัดพร้อมจำเลยที่ 2 มิได้มาศาลศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ไม่เคยแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 2 ทราบเลย ดังนี้ กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นับตั้งแต่วันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกและภายหลังแต่นั้นมาไม่ชอบ และไม่มีผลผูกพัน จำเลยที่ 2 ต้องยกคำพิพากษาของศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า อ. ลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถด้านขวาด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์นั่ง ทำให้สามีโจทก์ที่ 1 ตาย โจทก์ที่ 2 บาดเจ็บสาหัส ดังนี้ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว การที่โจทก์นำสืบว่า อ. ขับรถยนต์บรรทุกแซงรถยนต์บรรทุกคันอื่นขึ้นมาเฉี่ยวชนกับรถฝ่ายโจทก์ เป็นการนำสืบถึงรายละเอียด ไม่เป็นการนำสืบนอกคำฟ้อง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สำนวนแรก 115,000 บาท สำนวนที่ 2 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย กับให้นายองุ่นจำเลยที่ 1 และห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานน้ำปลาจิตรสงวนจำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้เงินให้โจทก์สำนวนที่สี่ 15,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยยกฟ้องโจทก์สำนวนที่สาม ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกาทั้งสี่สำนวน

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่า จำเลยที่ 2 (จำเลยที่ 1 ในสำนวนที่สี่) ขาดนัดยื่นคำให้การ วันที่ 16 กรกฎาคม 2514 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อม จำเลยที่ 2 ไม่ได้มาศาล ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 20 สิงหาคม 2518 แต่มิได้แจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 2 ทราบ เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 2 ไม่ได้มาศาล ศาลชั้นต้นก็ให้สืบพยานโจทก์ไป และเมื่อสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 1 ต่อ ๆ มาจนเสร็จคดี ตลอดจนนัดฟังคำพิพากษา ศาลชั้นต้นไม่เคยแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 2 ทราบเลย ศาลฎีกาเห็นว่า กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นับตั้งแต่วันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกและภายหลังแต่นั้นมาไม่ชอบ และไม่มีผลตามกฎหมาย จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ดังนี้จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นได้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 745/2520 ระหว่างนางกิมฮวง แซ่ตั้ง โจทก์ นางสาลี่ ยอดใจ จำเลย การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในสำนวนที่สี่หรือไม่นั้น เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงเห็นสมควรให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทั้ง 2 ฉบับ และคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้ง 2 ฉบับ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสำนวนที่ 4 เพื่อให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง” ฯลฯ

“จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 นำสืบนอกคำฟ้องโดยโจทก์บรรยายฟ้องไว้แต่เพียงว่า นายองุ่น ผาสุข จำเลยที่ 2 ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ช.บ. 12898 โดยประมาทล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถด้านขวาด้วยความเร็วสูงชนรถยนต์นั่งคันหมายเลขทะเบียน ก.ท.อ. – 5058 ทำให้มีคนตาย โจทก์ที่ 2 บาดเจ็บสาหัส มิได้กล่าวว่ารถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 คันหมายเลขทะเบียน ช.บ. 12898 แซงรถยนต์คันใดขึ้นไปเลย การที่โจทก์นำสืบพยานว่า รถบรรทุกของจำเลยที่ 1 คันดังกล่าวแซงรถบรรทุกคันอื่นขึ้นมาเฉี่ยวชนกับฝ่ายโจทก์ขณะเกิดเหตุ จึงเป็นการนำสืบนอกคำฟ้องที่มิได้บรรยายไว้เลย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ควรรับฟังได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อในคดีแพ่งนั้น ต่างกับการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำผิดอาญาโดยประมาท ซึ่งโจทก์จะต้องบรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดโดยแน่ชัด สำหรับคดีแพ่งนั้นเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแสดงว่า การละเมิดของผู้ทำละเมิดเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อพอจะทำให้เข้าใจได้ว่า ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์มีอย่างไร ก็เป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิพีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่านายองุ่น ผาสุข ลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ช.บ. 12898 โดยประมาทล้ำเข้ามาในช่องทางเดินด้านขวาด้วยความเร็วสูงเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์นั่งคันหมายเลขทะเบียน ก.ท.อ. – 5058 ทำให้นายประยูรสามีโจทก์ที่ 1 ตายโจทก์ที่ 2 บาดเจ็บสาหัส ดังนี้พอที่จะทำให้เข้าใจได้ว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์มีอย่างไร การที่โจทก์นำสืบว่านายองุ่นจำเลยที่ 2 ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกแซงรถยนต์บรรทุกคันอื่นขึ้นมาเฉี่ยวชนกับรถฝ่ายโจทก์ เป็นการนำสืบถึงรายละเอียด จึงไม่เป็นการนำสืบนอกคำฟ้อง” ฯลฯ

“พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทั้ง 2 ฉบับและคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้ง 2 ฉบับ ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นนับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2519 ซึ่งเป็นวันสืบพยานโจทก์นัดแรกและภายหลังตั้งแต่นั้นต่อมา เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด โจทก์ที่ 3 ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานน้ำปลาจิตรสงวน จำเลยที่ 1 นายองุ่น ผาสุข จำเลยที่ 2 หรืออีกนัยหนึ่งบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด โจทก์ นายองุ่น ผาสุข จำเลยที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานน้ำปลาจิตรสงวน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโจทก์จำเลยในสำนวนที่สี่ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่โดยแจ้งวันนัดให้คู่ความทุกฝ่ายในคดีดังกล่าวทราบ เสร็จแล้วให้พิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลที่ว่ากันมาแล้ว ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์จำเลยในคดีแรกเป็นเงิน 86,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากสำนวนที่สี่ให้เป็นพับ”

Share