คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2033/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 1 อ้างเหตุว่าจำเลยที่และทนายของจำเลยทั้งสองต่าง เข้าใจผิดว่าต่าง ได้ ดำเนินการยื่นคำให้การและดำเนินการพิจารณาแทนกันไปแล้ว จึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาโดย ไม่จงใจนั้นดังนี้แม้หากจะได้ความจริงตาม ข้ออ้างดังกล่าวก็ ไม่อาจกล่าวได้ ว่าจำเลยที่ 1 ไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา เพราะจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้อง เอาใจใส่ในการต่อสู้ คดีของจำเลยที่ 1 เอง จะอ้างความเข้าใจผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้จงใจหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อประมาณกลางเดือนมีนาคม 2531 โจทก์ได้รับเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกะปิจำนวน 3 ฉบับ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 กระทำการในฐานะตัวแทนบริษัทจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัว โดยจำเลยทั้งสองมอบเช็คทั้งสามฉบับดังกล่าวให้กับผู้มีชื่อเพื่อชำระหนี้ และต่อมาผู้มีชื่อนำเช็คทั้งสามฉบับมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระ โจทก์นำไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คแต่ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คทั้งสามฉบับปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลอย่างเดียวกันว่า “มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย” ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยทั้งสองในฐานะผู้สั่งจ่ายจะต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คทั้งสามฉบับเป็นเงินจำนวน 1,237,050 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับถึงวันฟ้อง ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,247,910.39 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม มิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันออกเช็คพิพาททั้งสามฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าอะไรแก่ผู้มีชื่อ โจทก์คบคิดกับผู้มีชื่อเพื่อฉ้อฉลเอาทรัพย์จากจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เช็คพิพาทออกเพื่อเป็นประกันหนี้ในอนาคตโดยส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ยังไม่มีมูลหนี้โดยชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ 2 ออกเช็คพิพาททั้งสามฉบับแทนหรือในนามจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดตามเช็ค
จำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,247,910.39บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้พิจารณาใหม่ อ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา เพราะจำเลยที่ 1 มีทนายความประจำบริษัทของจำเลยที่ 1ส่วนจำเลยที่ 2 มีทนายความประจำตัวซึ่งมีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ จำเลยที่ 1 เข้าใจผิดว่า จำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้ทนายความประจำตัวของจำเลยที่ 2 ดำเนินคดีโดยยื่นคำให้การและดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ แทนจำเลยที่ 1 ด้วยแล้ว และทนายความของจำเลยที่ 2ก็เข้าใจคลาดเคลื่อนว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้ทนายความประจำบริษัทของจำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การและดำเนินกระบวนพิจารณาความของจำเลยที่ 1 เอง ทนายจำเลยที่ 2 จึงไม่ยื่นคำให้การแทนจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 มาทราบว่า จำเลยที่ 1 ถูกศาลพิพากษาให้ชำระหนี้ตามฟ้องโจทก์จากคำบังคับ เหตุเกิดเพราะความเข้าใจผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และทนายของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 มีทางชนะคดีเนื่องจากหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขในอนาคตและมีข้อตกลงให้บุคคลภายนอกปฏิบัติตามสัญญา แต่บุคคลภายนอกไม่ปฏิบัติตามสัญญามูลหนี้จึงไม่เกิด บุคคลภายนอกสมคบกับโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริต โจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายดังที่ศาลพิพากษา
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยไม่ไต่สวนให้เหตุผลว่า แม้ได้ความตามคำร้อง ก็ไม่ใช่เหตุจะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 อ้างในคำร้องว่าจำเลยที่ 1มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่การขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาของจำเลยที่ 1 เกิดจากความเข้าใจผิดของจำเลยทั้งสองดังที่กล่าวรายละเอียดมาในคำร้องนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เหตุผลตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแม้จะเป็นความจริงก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา เพราะจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องเอาใจใส่ในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 เอง จำเลยที่ 1 จะอ้างความเข้าใจผิดตามที่ระบุในคำร้องมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาหาได้ไม่…”
พิพากษายืน.

Share