คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1371/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายเป็นนายอำเภอท้องที่ที่เกิดเหตุผู้เสียหายมีคำสั่งให้สถานบริการอาหารและเครื่องดื่มที่มีดนตรีบรรเลงและสถานที่เล่นสนุกเกอร์ของจำเลยหยุดบริการเพราะเปิดเกินเวลาและให้พนักงานของจำเลยไปตามจำเลยมาเพื่อรับทราบคำสั่งซึ่งทางราชการได้สั่งให้สถานบริการในท้องที่ที่เกิดเหตุต้องหยุดให้บริการในเวลา1นาฬิกาโดยขณะที่ผู้เสียหายออกคำสั่งดังกล่าวก่อนเวลา1นาฬิกาที่จำเลยจะต้องปิดสถานบริการตามคำสั่งของทางราชการเป็นอันมากคำสั่งของผู้เสียหายที่ให้จำเลยปิดสถานบริการจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยคำสั่งทางราชการดังนี้การใช้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ผู้อยู่ในความปกครองหรือสั่งการย่อมเป็นการผิดวิสัยเว้นแต่จะขอร้องกันเป็นการส่วนตัววิธีปฏิบัติที่ผู้เสียหายทำไปบ่งชัดว่าไม่ใช่การสั่งการในฐานะเจ้าพนักงานการกระทำของผู้เสียหายดังกล่าวมาทั้งหมดจึงมิใช่การกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา289(2) การที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งนายอำเภอผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่รับผิดชอบได้ออกคำสั่งให้จำเลยผู้เป็นราษฎรในเขตท้องที่ที่ตนดูแลอยู่ให้ปิดสถานบริการก่อนเวลาที่ทางราชการกำหนดอันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่และปฏิเสธการขอร้องของจำเลยที่จะอนุญาตให้เปิดสถานบริการต่อตามกำหนดเวลาของทางราชการตลอดจนการที่ผู้เสียหายผลักจำเลยให้พ้นทางของตนโดยไม่ยอมรับฟังจำเลยต่อไปนั้นเป็นการข่มเหงจำเลยราษฎรในความปกครองของตนอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมเมื่อจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายผู้ข่มเหงตนในขณะนั้นจึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดไปโดยบันดาลโทสะ

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1346/2536 หมายเลขแดงที่ 2990/2536 ของศาลชั้นต้นระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี โจทก์ นายประเสริฐ สากลจำเลย แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2536 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยพาอาวุธปืนพกออโตเมติก ขนาด 11 มม. พร้อมกระสุนปืน 7 นัด ซึ่งเป็นของจำเลยที่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีและใช้ตามกฎหมายติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธดังกล่าวดังกล่าวติดตัว ทั้งไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ที่จะต้องมีอาวุธปืนติดตัว และจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายสามารถ กมลานนท์ นายอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน 3 นัด โดยเจตนาฆ่าในขณะปฏิบัติและสั่งการตามหน้าที่ของเจ้าพนักงาน จำเลยลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289,371, 80, 91, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงนายสามารถ กมลานนท์ผู้เสียหาย แต่กระทำไปโดยบันดาลโทสะและขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมิใช่เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 72 และ 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะจำคุก 6 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 6 ปี6 เดือน จำเลยลุแก่โทษโดยเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก4 ปี 4 เดือน ริบอาวุธปืน หัวกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืน กระสุนปืนแม็กกาซีน เศษรองกระสุนปืนและแกนลูกกระสุนปืนของกลาง ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า นายสามารถกมลานนท์ ผู้เสียหายเป็นนายอำเภอท้องที่ที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายมีคำสั่งให้สถานบริการอาหารและเครื่องดื่มที่มีดนตรีบรรเลงและสถานที่เล่นสนุกเกอร์ของจำเลยหยุดบริการ จำเลยใช้อาวุธปืนพกยิงผู้เสียหาย กระสุนปืนถูกที่บริเวณใบหน้าผู้เสียหาย อันเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่มีใบอนุญาตให้พาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน ทางสาธารณะ อาวุธปืนนั้น เป็นของจำเลยและจำเลยมีใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย
ตามฎีกาของโจทก์มีปัญหาว่า จำเลยพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่หรือไม่ และจำเลยกระทำไปโดยบันดาลโทสะหรือไม่ ส่วนตามฎีกาของจำเลยมีปัญหาว่า ควรวางโทษหนักเบาเพียงใดและสมควรรอการลงโทษแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายพยานโจทก์มิได้เบิกความให้เห็นแน่ชัดว่า ตามคำสั่งของทางราชการสถานพักผ่อนหย่อนใจอย่างเช่นสถานบริการของจำเลยต้องหยุดบริการเมื่อใดซึ่งเวลาที่กำหนดให้หยุดบริการเป็นข้อปฏิบัติที่ผู้ประกอบการสถานบริการทุกแห่งจะต้องถือปฏิบัติ และเห็นว่าข้อเท็จจริงมีเหตุผลให้เชื่อว่าทางราชการได้สั่งให้สถานบริการในท้องที่อำเภอพนัสนิคมต้องหยุดให้บริการในเวลา 1 นาฬิกา เวลาขณะเกิดเหตุยังไม่เกิน 0.40 นาฬิกา นอกจากนี้ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายเรียกพนักงานของจำเลยมาเก็บเงิน เมื่อเก็บเงินแล้วผู้เสียหายบอกให้ไปตามเจ้าของร้านมาพบ ประมาณ 5 นาที จำเลยมาพบผู้เสียหายผู้เสียหายบอกให้จำเลยไปบอกให้วงดนตรีหยุดเล่นเพราะร้านเปิดเกินเวลาแล้ว จำเลยขอร้องผู้เสียหายให้มีการเปิดบริการต่อแต่ผู้เสียหายไม่อนุญาต หลังจากนั้นผู้เสียหายเดินไปที่ห้องสนุกเกอร์ ผู้เสียหายบอกให้คนที่เล่นสนุกเกอร์หยุดเล่น ผู้เสียหายถามเด็กที่โต๊ะสนุกเกอร์ว่าใครเป็นผู้ดูแล เด็กบอกว่าจำเลยเป็นผู้ดูแล ผู้เสียหายให้เด็กไปตามจำเลยมาพบ สักครู่จำเลยก็มาผู้เสียหายบอกจำเลยให้ปิด จำเลยขอร้องผู้เสียหายให้เปิดต่อแต่ผู้เสียหายไม่อนุญาต แล้วผู้เสียหายเดินไปที่รถ จำเลยยืนอยู่บริเวณช่องประตูรถที่เปิดอยู่ จำเลยขอร้องให้ผู้เสียหายอนุญาตให้เปิดบริการต่ออีกโดยใช้เวลาพูดอยู่ประมาณ 5 นาที แต่ผู้เสียหายไม่ยินยอม ขณะที่ผู้เสียหายออกคำสั่งให้จำเลยหยุดให้บริการในสถานบริการอาหารและเครื่องดื่มและสถานที่เล่นสนุกเกอร์เป็นเวลาก่อนเวลา 0.40 นาฬิกา ดังนี้ คำสั่งของผู้เสียหายที่ให้จำเลยปิดสถานบริการจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยคำสั่งทางราชการการใช้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ผู้อยู่ในความปกครองหรือสั่งการย่อมเป็นการผิดวิสัย เว้นแต่จะขอร้องกันเป็นการส่วนตัว วิธีปฏิบัติที่ผู้เสียหายทำไปบ่งชัดว่าไม่ใช่การสั่งการในฐานะเจ้าพนักงาน การกระทำของผู้เสียหายดังกล่าวมาทั้งหมดจึงมิใช่การกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(2)
ส่วนปัญหาว่า จำเลยกระทำผิดโดยบันดาลโทสะหรือไม่นั้นเห็นว่า แม้ผู้เสียหายจะออกคำสั่งไปโดยไม่ชอบด้วยคำสั่งของทางราชการ แต่จำเลยก็มิได้โต้แย้งและไม่ยอมปฏิบัติตามโดยลบหลู่เกรียติของผู้เสียหาย ซึ่งข้อนี้ปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยว่าจำเลยคงให้ความเคารพนอบน้อมร้องขอผู้เสียหายให้ผ่อนผัน โดยขอให้จำเลยได้ทำมาหากิน เพียรพยายามติดตามขอร้องอย่างไม่ลดละถึงกับก้มวอนไหว้ บ่งบอกถึงความข่มขื่นและจำยอมต่ออำนาจของผู้เสียหายในฐานะนายอำเภอ แต่ผู้เสียหายก็ยืนกรานปฏิเสธตลอดมา ผู้เสียหายเคยไปสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่สถานบริการของจำเลยมาก่อนประมาณ 4 ถึง 5 ครั้ง หากผู้เสียหายพอใจต่อการบริการเมื่อถึงเวลา 1 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นก็อนุญาตให้ดำเนินการให้บริการต่อไป บางครั้งจนถึงเวลา 3 นาฬิกา ก็มี แต่หากไม่พอใจก็จะสั่งให้หยุดบริการทันที ซึ่งมีความหมายว่าในทันทีเมื่อถึงเวลา 1 นาฬิกาแสดงถึงการที่ผู้เสียหายเอาความพอใจของตนเป็นที่ตั้ง นอกจากนี้ผู้เสียหายยังเบิกความรับว่าผู้เสียหายบอกจำเลยว่าจะขอพูดกับบิดาของจำเลยเอง เนื่องจากผู้เสียหายรู้จักกับบิดาจำเลย บิดาจำเลยเคยพูดฝากจำเลยกับผู้เสียหายให้ช่วยดูแลจำเลยด้วย อันเป็นการกล่าวพาดพิงถึงบิดาของจำเลยอันเป็นบรรพบุรุษของจำเลยซึ่งในขณะนั้นไม่อยู่ที่เกิดเหตุ ซึ่งไม่มีประโยชน์ที่จะกล่าวถึงประกอบกับจำเลยเบิกความว่าผู้เสียหายผลักจำเลย ทำให้จำเลยโกรธและลืมตัวจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายขณะที่ผู้เสียหายยังไม่ได้ปิดประตูรถ ซึ่งมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยยืนขอร้องขวางประตูรถในขณะผู้เสียหายนั่งอยู่ในรถ เมื่อผู้เสียหายสั่งให้นายบุญมากออกรถ รถจึงยังออกไม่ได้เพราะติดที่จำเลยยืนขวางอยู่ ผู้เสียหายจึงต้องผลักจำเลยไปให้พ้น จำเลยถูกข่มเหงน้ำใจและผลักใสอย่างไร้เกียรติ แต่ได้อดกลั้นจนที่สุดแล้ว จึงใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในทันที เมื่อผู้เสียหายผลักไสโดยไม่มีเวลาไตร่ตรอง การที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งนายอำเภอผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่ที่รับผิดได้ออกคำสั่งให้จำเลยผู้เป็นราษฎรในเขตท้องที่ที่ตนดูแลอยู่ให้ปิดสถานบริการก่อนเวลาที่ทางราชการกำหนด อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่ และปฏิเสธการขอร้องของจำเลยที่จะอนุญาตให้เปิดสถานบริการต่อตามกำหนดเวลาของทางราชการ ตลอดจนการผลักจำเลยให้พ้นทางของตนโดยไม่ยอมรับฟังจำเลยต่อไปนั้น เป็นการข่มเหงจำเลยราษฎรในความปกครองของตนอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายผู้ข่มเหงตนในขณะนั้น จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดไปโดยบันดาลโทสะ และเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดไปเพราะถูกบีบคั้นเกี่ยวกับการประกอบอาชีพอาวุธปืนที่ใช้ยิงก็เป็นของจำเลยและได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย สถานที่ที่จำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปก็อยู่ในบริเวณสถานประกอบการค้าของจำเลย โทษที่ศาลล่างทั้งสองวางแก่จำเลยจึงหนักเกินไป สมควรกำหนดเสียใหม่ให้เหมาะสมแต่อย่างไรก็ตาม จำเลยกระทำความผิดตอบโต้รุนแรงเกินไป ตำแหน่งที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงก็เป็นที่อวัยวะสำคัญของผู้เสียหายอันแสดงถึงเจตนาจะฆ่าผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายนั่งอยู่ในรถและจำเลยยืนอยู่จำเลยก็มีความอิสระตามสมควรที่จะเล็งปืนไปที่อวัยวะไม่สำคัญของผู้เสียหายและยิงสู่เบื้องต่ำได้ แต่จำเลยหาได้ทำไม่พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลยจึงยังไม่มีเหตุสมควรให้รอการลงโทษแก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80และ 72 จำคุก 3 ปี ความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่มีใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 72 ทวิวรรคสอง ปรับ 1,500 บาท รวมจำคุก 3 ปี และปรับ 1,500 บาท จำเลยลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานและให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี และปรับ 1,000 บาท ไม่รอการลงโทษไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share