คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2028/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

วันที่โจทก์ยื่นฟ้องอุทธรณ์ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2534ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้จำเลยแก้ใน 15 วัน โดยให้โจทก์นำส่งใน 7 วัน หากวันส่งไม่ได้ให้แถลงใน 7 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งข้างต้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2535 โจทก์ได้ยื่นคำแถลงว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งธนบุรี ขอให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือไปยังศาลแพ่งธนบุรีเพื่อให้ดำเนินการส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์ ให้จำเลยต่อไป ศาลชั้นต้นจัดการให้ตามคำแถลง ต่อมา วันที่ 23 มกราคม 2535 ศาลแพ่งธนบุรีได้มีหนังสือแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบว่าได้จัดการส่งหมายนัดและสำเนาฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลยแล้ว แต่ส่งไม่ได้ ศาลชั้นต้นรับทราบแล้วมีคำสั่งในวันที่ 28 มกราคม 2535 อีกว่า ให้โจทก์แถลงใน 7 วัน คำสั่ง ของศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้นมีความหมายว่าโจทก์ต้องทราบถึงผลของการส่งสำเนาฟ้องอุทธรณ์ด้วยว่าส่งให้จำเลยไม่ได้ แต่ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นยังไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าเจ้าพนักงานเดินหมาย ของศาลแพ่งธนบุรีส่งสำเนาฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้ ฉะนั้นโจทก์จึงไม่มีโอกาสทราบถึงผลของการส่งสำเนาฟ้องอุทธรณ์ ให้จำเลย ดังนั้นแม้โจทก์มิได้แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบตามเวลา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในเวลา ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด อันจะเป็นการทิ้งอุทธรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 164 ตำบลนาเกลือ กิ่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์โจทก์ ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายใน 7 วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงใน 7 วัน นับแต่ส่งไม่ได้หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 23 มกราคม2535 เจ้าหน้าที่ส่งหมายรายงานผลการส่งหมายว่า ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 28 มกราคม 2535 ว่าให้โจทก์แถลงใน 7 วัน วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535เจ้าหน้าที่รายงานว่าโจทก์ไม่มาแถลงในเวลาที่กำหนด
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในชั้นนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า วันที่โจทก์ยื่นฟ้องอุทธรณ์ (วันที่ 30 ธันวาคม 2534) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า”ฯลฯ รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้จำเลยแก้ใน 15 วันโดยให้โจทก์นำส่งใน 7 วันหากส่งไม่ได้ให้แถลงใน 7 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ ฯลฯ หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งข้างต้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์” ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2535 โจทก์ได้ยื่นคำแถลงว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งธนบุรี ขอให้ศาลชั้นต้นมีหนังสือไปยังศาลแพ่งธนบุรีเพื่อให้ดำเนินการส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลยต่อไป โดยโจทก์ได้แนบตั๋วแลกเงินไปรษณีย์ 100 บาทมาพร้อมกับคำแถลงด้วยเพื่อเป็นค่าป่วยการของเจ้าพนักงานเดินหมายศาลชั้นต้นก็จัดการให้ตามคำแถลง ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2535ศาลแพ่งธนบุรีได้มีหนังสือแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบว่าได้จัดการส่งหมายนัดและสำเนาฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลยแล้ว แต่ส่งไม่ได้พร้อมกับส่งหลักฐานรายงานการส่งของเจ้าพนักงานให้ศาลชั้นต้นทราบด้วย ศาลชั้นต้นรับทราบแล้วมีคำสั่ง (วันที่ 28 มกราคม 2535)อีกว่า “ให้โจทก์แถลงใน 7 วัน” คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้นศาลฎีกาเห็นว่ามีความหมายว่าโจทก์ต้องทราบถึงผลของการส่งสำเนาฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นยังไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าเจ้าพนักงานเดินหมายของศาลแพ่งธนบุรีส่งสำเนาฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้ฉะนั้นโจทก์จึงไม่มีโอกาสทราบถึงผลของการส่งสำเนาฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลย ดังนั้นแม้โจทก์มิได้แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบตามเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายคดีของโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ดำเนินการส่งสำเนาฟ้องอุทธรณ์ให้แก่จำเลยใหม่แล้วดำเนินการต่อไป

Share