แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ ส. ต่อมาส. นำเช็คดังกล่าวมาชำระหนี้ค่ารถยนต์ที่ซื้อจากโจทก์ร่วมเมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดโจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมจึงไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ภายหลังที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ ส. ได้นำรถยนต์ที่ซื้อขายไปคืนให้แก่โจทก์ร่วม ดังนี้การคืนรถยนต์ดังกล่าวมิใช่การชำระหนี้ตามเช็คพิพาทแทนจำเลยหรือเป็นการยอมความกันในคดีตามกฎหมาย ไม่ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับ ไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ในคดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อจำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างลงโทษจำเลยหนักเกินไปก็ย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา นายประยงค์ วารีแสงทิพย์ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกกระทงละ1 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 เดือน รวม4 กระทง เป็นจำคุก 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 เดือนรวม 4 กระทง เป็นจำคุก 4 เดือน เป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499
พิเคราะห์แล้วมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่พอฟังว่าได้มีการซื้อขายรถยนต์กระบะ ระหว่างนางสุมาลีกับโจทก์ร่วมจริง โจทก์ร่วมมิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายนั้นเห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในการรับฟังพยานหลักฐานว่าโจทก์ร่วมกับนางสุมาลีมีหนี้สินกันอยู่จริงหรือไม่ อันเป็นข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายหรือไม่เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายประการต่อมามีว่าสิทธินำคดีอาญาตามฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมระงับไปเพราะมีเหตุยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับฟังว่า จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่นางสุมาลี ไชยสอาดตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ป.จ.2 ของศาลแขวงดุสิต ต่อมานางสุมาลีนำเช็คดังกล่าวมาชำระหนี้ค่ารถยนต์กระบะที่ซื้อจากโจทก์ร่วมตามสัญญาซื้อขายรถยนต์เอกสารหมาย ป.จ.1 ของศาลแขวงดุสิต เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดโจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายตามเช็ค โจทก์ร่วมจึงไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยจากนั้นนางสุมาลีได้นำรถยนต์กระบะกระบะที่ซื้อขายกันมาคืนแก่โจทก์ร่วม เห็นว่า แม้ภายหลังโจทก์ร่วมก็ตาม แต่การคืนรถยนต์ดังกล่าวก็มิใช่การชำระหนี้ตามเช็คพิพาทแทนจำเลยหรือเป็นการยอมความกันในคดีนี้ตามกฎหมาย ไม่ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องเป็นคดีของโจทก์และโจทก์ร่วมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายที่ขอให้ศาลฎีกาลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาล เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นเช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นคดีที่คู่ความฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างลงโทษจำเลยหนักเกินไปก็ย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยเป็นหญิงไม่เคยปรากฏว่า ได้รับโทษจำคุกมาก่อน และเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายซึ่งนางสุมาลีนำไปชำระราคารถยนต์กระบะแก่โจทก์ร่วมนั้นนางสุมาลีก็ได้คืนรถยนต์กระบะให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว สมควรรอการลงโทษจำเลย โดยให้ลงโทษปรับไว้ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยกระทงละ 2,000 บาทรวม 4 กระทง เป็นเงิน 8,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2