แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ มิได้ให้การถึงตราที่ใช้ประทับอยู่ในช่องผู้เช่าซื้อว่าชอบหรือไม่อย่างไรเมื่อจำเลยไม่ให้การถึงต้องถือว่าจำเลยรับว่าเป็นตราของจำเลยที่ 1 คู่ความไม่ต้องพิสูจน์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84(1) จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันไว้ตามสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้อง การที่จำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่าโจทก์เป็นผู้กรอกข้อความในเอกสารทั้งสิ้น จึงเป็นเอกสารปลอม โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การว่าเหตุใดจึงได้ลงชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าวและเหตุใดโจทก์จึงนำเอกสารนั้นไปกรอกข้อความจนกลายเป็นเอกสารปลอมได้ถือว่าไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งเป็นคำให้การที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ.มาตรา 177 วรรคสอง.
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาด้วยกัน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยนายสมบูรณ์สุวรรณไวพัฒนะ กรรมการผู้จัดการได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์จำนวน 2 คัน คันแรกเป็นรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ ราคาเช่าซื้อ 81,900 บาทคันที่สองเป็นรถยนต์ยี่ห้อฮีโน่ ราคาเช่าซื้อ 108,900 บาท ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสองคันในทุกวันที่ 26 ของเดือน เริ่มงวดแรกวันที่ 26 เมษายน 2530 รวม 18 งวด ถ้าหากจำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อยอมให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันและให้โจทก์ริบเงินที่ส่งใช้แล้วทั้งสิ้นกับยอมมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย จำเลยที่ 1 รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจากโจทก์ตั้งแต่วันทำสัญญา โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสองคันแก่โจทก์เพียง 3 งวด ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 ผิดนัดโจทก์ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ เงินที่จำเลยที่ 1 ส่งใช้มาแล้วจึงริบเป็นกรรมสิทธิ์และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถคืนแก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดการที่จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ ซึ่งโจทก์จะนำไปให้เช่า ได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าวันละ300 บาท สำหรับรถยนต์คันแรกและ 500 บาท สำหรับรถยนต์คันที่สองโจทก์ขอคิดค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2530 อันเป็นวันที่ถือว่าจำเลยครอบครองทรัพย์โดยเหตุผิดนัดจนถึงวันฟ้องสำหรับรถยนต์คันแรกเป็นเวลา 130 วัน เป็นเงิน 39,000 บาท สำหรับรถยนต์คันที่สองเป็นเวลา 140 วันเป็นเงิน 70,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์อีซูซุ หากคืนไม่ได้ก็ให้ชำระราคา 81,900บาท และร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 39,000 บาท และค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องในอัตราวันละ 300 บาทเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะคืนหรือชำระราคารถให้แก่โจทก์ และร่วมกันคืนรถยนต์บรรทุกยี่ห้อฮีโน่ หากคืนไม่ได้ก็ให้ชำระราคา 108,900 บาท และร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 70,000 บาท และค่าเสียหายอัตราวันละ 500บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะได้คืนหรือชำระราคารถให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องกับโจทก์ นายสมบูรณ์ สุวรรณไวพัฒนะ อดีตกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจกระทำการโดยไม่สุจริตโอนรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุและรถยนต์ยี่ห้อฮีโน่แก่โจทก์ และโจทก์ให้เงินตอบแทนแก่นายสมบูรณ์ จำนวน 60,000 บาท และ 80,000 บาท ตามลำดับ หลังจากนั้นนายสมบูรณ์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสองคันในนามของตนเองโจทก์กระทำการไม่สุจริตกรอกข้อความเป็นเท็จลงในสัญญาเช่าซื้อโดยระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวและโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมเข้าไว้ในต้นเงิน60,000 บาท และ 80,000 บาท นำไปเป็นค่าเช่าซื้อจำนวน 81,900 บาทและ 108,900 บาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์เป็นผู้กรอกข้อความเองทั้งสิ้นสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์รถยนต์ยี่ห้ออีซูซุมีสภาพเก่าไม่สมบูรณ์ต้องซ่อมแซมอยู่เสมอไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้ประโยชน์ได้ หากนำไปให้เช่าก็จะได้ค่าเช่าไม่เกินวันละ 50 บาท ส่วนรถยนต์ยี่ห้อฮีโน่เป็นรถที่มีสภาพเก่าไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้ประโยชน์ได้เช่นกันหากนำไปให้เช่าก็จะได้ค่าเช่าไม่เกินวันละ 50 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-5382 นครราชสีมา และรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ม.80-4029 ในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 คืนรถไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคารถจำนวน 81,900 บาท และ108,900 บาทแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 41,000บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายสำหรับรถคันหมายเลขทะเบียน น-5382 นครราชสีมา เป็นเงินวันละ 100 บาทส่วนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ม.80-4029 เป็นเงินวันละ 200บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถคืน
จำเลยทั้งสองในสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองในสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่าจำเลยมีสิทธิอ้างและนำสืบว่าตราที่ประทับในช่องผู้เช่าซื้อในสัญญาไม่ใช่ตราของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ในข้อนี้จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ เดิมรถยนต์ดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 นายสมบูรณ์กระทำโดยไม่สุจริตโอนรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์ และโจทก์ให้เงินตอบแทนแก่นายสมบูรณ์แล้วจึงมีการทำสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว จะเห็นได้ว่าจำเลยมิได้ให้การถึงตราที่ใช้ประทับอยู่ในช่องผู้เช่าซื้อว่าชอบหรือไม่อย่างไร เมื่อจำเลยไม่ให้การถึงต้องถือว่าจำเลยรับว่าเป็นตราของจำเลยที่ 1คู่ความไม่ต้องพิสูจน์ในข้อเท็จจริงนี้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ยอมรับวินิจฉัยพยานจำเลยที่นำสืบว่าตราที่ประทับในช่องผู้เช่าซื้อไม่ใช่ตราของจำเลยที่ 1นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อมาจำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อ ถือว่าจำเลยไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันเพราะเป็นปัญหาที่จำเลยได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้นนั้นในข้อนี้จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่าเดิมรถยนต์ดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 นายสมบูรณ์กระทำโดยไม่สุจริตโอนรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์ แล้วจึงมีการทำสัญญาเช่าซื้อ จะเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองมิได้ต่อสู้ว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์มิได้เป็นเจ้าของรถยนต์ดังกล่าว สัญญาเช่าซื้อจึงไม่ผูกพันจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นเมื่อปัญหาข้อนี้มิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามมิให้ยกขึ้นมากล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยให้จึงถูกต้องแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาสุดท้ายที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิกล่าวอ้างและนำสืบว่าจำเลยที่ 2 ลงชื่อในเอกสารเพื่อค้ำประกันเงินกู้ให้แก่นายสมบูรณ์ แต่มีการนำเอกสารนั้นไปกรอกข้อความเป็นสัญญาค้ำประกันในคดีนี้อันผิดไปจากข้อตกลงการกรอกข้อความดังกล่าวจึงเป็นการปลอมเอกสาร ศาลฎีกาเห็นว่า ในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 2ให้การเพียงว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1ให้ไว้แก่โจทก์ เอกสารท้ายฟ้องโจทก์เป็นผู้กรอกข้อความเองทั้งสิ้นสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม แต่ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันไว้ การที่จำเลยที่ 2ให้การเพียงว่าโจทก์เป็นผู้กรอกข้อความในเอกสารทั้งสิ้น จึงเป็นเอกสารปลอม โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การว่าเหตุใดจึงได้ลงชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าว และเหตุใดโจทก์จึงนำเอกสารนั้นไปกรอกข้อความจนกลายเป็นเอกสารปลอมได้ ถือว่าไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งเป็นคำให้การที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองไม่ก่อให้เกิดประเด็น ศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ให้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน.