คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 202/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามมาตรา 238 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต เช่น ในคดีร้องขัดทรัพย์ (โจทก์นำยึดทรัพย์อ้างว่าเป็นของจำเลย ผู้ร้อง ๆ ว่าทรัพย์นั้นผู้ร้องซื้อจากจำเลยแล้ว ขอให้ถอนการยึด โจทก์คัดค้านโดยอ้างว่าการซื้อขายไม่เป็นไปโดยสุจริต เพราะจำเลยโอนทรัพย์ให้ผู้ร้องโดยการสมยอมกัน) ผู้ร้องได้โอนทรัพย์นั้นให้บุคคลภายนอกไปอีกทอดหนึ่งแล้ว ถ้าโจทก์ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้สำเร็จ ผลแห่งการเพิกถอนนั้นย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอกที่ได้รับโอนไป (อีกทอดหนึ่งนั้น) โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก่อนที่โจทก์ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล

ย่อยาว

ผู้ร้องร้องว่าห้องแถวและที่ดินที่โจทก์นำยึด ๒ ห้องเป็นของผู้ร้อง โดยผู้ร้องซื้อมาจากจำเลยที่ ๑ ขอให้ปล่อยการยึด
โจทก์คัดค้านว่า การซื้อขายรายนี้ไม่เป็นไปโดยสุจริต เป็นการสมยอมกันเพื่อป้องกันมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ถอนการยึด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยขายทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้องดดยผู้ร้องรู้ดีว่าทำให้โจทก์และเจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ โจทก์จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายรายนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ พิพากษากลับให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงอย่างเดียวกับศาลอุทธรณ์ และว่าที่ผู้ร้องฎีกาว่านิติกรรมซื้อขายรายนี้ทำกันก่อนโจทก์ยื่นฟ้อง ผุ้ร้องจึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๘ นั้น เห็นว่า มาตรา ๒๓๘ ดังกล่าวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต เช่น ผู้ร้องคดีนี้ได้โอนทรัพย์พิพาทให้บุคคลภายนอกไปอีกทอดหนึ่ง ถ้าโจทก์ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้สำเร็จแล้ว ผลแห่งการเพิกถอนนั้นย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอกที่ได้รับโอนไปโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนก่อนที่โจทก์ได้ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล
พิพากษายืน

Share