คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1022-1024/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จับจองที่พิพาทและได้ขอคำรับรองการทำประโยชน์จากนายอำเภอภายในกำหนด 180 วันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 แล้ว แต่นายอำเภองดเสียเองเพราะเหตุนอกเหนือประมวลกฎหมายที่ดินนั้น จะถือว่าที่ดินพิพาทปลอดจากการจับจองเพราะโจทก์มิได้ขอคำรับรองว่าทำประโยชน์แล้วตามมาตรา 7 มิได้
แม้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทที่ต้องเวนคืนจะตกมาเป็นของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนแล้วก็ตามแต่เจ้าหน้าที่จะมีสิทธิเข้าครอบครองที่พิพาทนั้นได้ก็ต่อเมื่อได้ใช้หรือได้วางเงินค่าทดแทนแล้ว หากยังไม่ได้ใช้หรือวางเงิน ก็จะอ้างว่าครอบครองได้สิทธิแล้วหาได้ไม่

ย่อยาว

คดี 3 สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษารวมกันมา โดยโจทก์ฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินริมทางหลวงสายนครราชสีมาปักธงไชย โดยการจับจองตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2495 และได้ทำประโยชน์แล้ว วันที่ 14 กันยายน 2497 โจทก์ขอขึ้นทะเบียนรับรองการทำประโยชน์ นายอำเภอสั่งงดไว้ก่อนเพราะอยู่ในเขตที่จำเลยจะขยายสนามบิน โจทก์ครอบครองต่อมาแล้วมีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลหนองจะบก อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2498 แต่ไม่มีรายชื่อโจทก์ในบัญชีเจ้าของที่ดินที่เวนคืน จำเลยตกลงกับโจทก์ไม่ได้ในจำนวนค่าทำขวัญ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2501 จำเลยบุกรุกเข้าปักหลักเขตหวงห้าม จึงขอให้ศาลพิพากษาห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยเข้าถือสิทธิในที่พิพาท

จำเลยให้การว่า ฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ไม่ขอใบรับรองการทำประโยชน์ภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงไม่มีสิทธิครอบครองจำเลยเจรจาเกี่ยวกับค่าก่นสร้างกับโจทก์โดยหลักศีลธรรม คดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ไม่ขาดอายุความโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแบบ 3 ใบรับรองการทำประโยชน์ภายในอายุใบเหยียบย่ำ แต่นายอำเภอสั่งงดการขึ้นทะเบียนเพราะจำเลยจะทำสนามบินจะว่าโจทก์ไม่ขอใบรับรองเกิน 180 วันตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงหมดสิทธิจับจองตามมาตรา 7 ไม่ได้ โจทก์มีสิทธิครอบครองอยู่ โจทก์ฟ้องขอห้ามได้ จึงพิพากษาว่า ที่พิพาทโจทก์เป็นเจ้าของ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ และโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่พิพาทแล้ว

ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว คดีได้ความดังที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่า โจทก์ได้จับจองที่ดินพิพาทตั้งแต่ พ.ศ. 2495 โดยมีใบเหยียบย่ำและได้ทำประโยชน์แล้วภายในกำหนดใน 2 ปี แต่เมื่อโจทก์ขอใบรับรองการทำประโยชน์ นายอำเภอในครั้งนั้นกลับสั่งงดไม่ขึ้นทะเบียนให้เหตุที่งดก็ไม่ใช่เพราะโจทก์มิได้ทำประโยชน์ในที่ดินโดยถูกต้อง แต่งดเพราะจำเลยจะขยายเขตสนามบิน ต่อจากนั้นก็มีการเจรจาค่าทดแทนกันตลอดมา ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มิได้ขาดสิทธิครอบครองที่พิพาทแต่ประการใด จำเลยจะถือว่าที่พิพาทปลอดจากการจับจองเพราะโจทก์มิได้ขอคำรับรองว่าได้ทำประโยชน์แล้วภายใน 180 วันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หาได้ไม่ เพราะโจทก์ได้ขอคำรับรองไว้โดยชอบแล้ว แต่อำเภองดเสียเองเพราะเหตุนอกเหนือประมวลกฎหมายที่ดิน จำเลยทำคำแถลงในชั้นฎีกาว่า ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนที่พิพาทเมื่อเดือนสิงหาคม 2498 ซึ่งมีผลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มาตรา 10 ว่า แม้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนจะตกมาเป็นของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัติเวนคืนก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่จะมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นได้ต่อเมื่อได้ใช้เงิน หรือวางเงินค่าทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินั้นแล้ว จำเลยเป็นฝ่ายดำเนินการเพื่อเข้าครอบครองที่พิพาทตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนดังกล่าวแล้ว จำเลยจะอ้างได้อย่างไรว่าตนทำละเมิดหรือแย่งการครอบครองที่ดินของเอกชนเช่นโจทก์เหล่านี้ คดีจึงไม่ขาดอายุความศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าที่จำเลยเข้าถากถางปรับที่เป็นการกระทำไปพลางก่อนโดยยังเคารพสิทธิของโจทก์อยู่ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ชอบด้วยรูปคดีแล้ว จำเลยจะมีสิทธิเข้าครอบครองที่พิพาทได้ก็ต่อเมื่อได้ปฏิบัติการครบถ้วนดังที่มาตรา 10 บัญญัติไว้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share