แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา 1357 เป็นแต่เพียงความสันนิษฐานของกฎหมายเท่านั้นว่า ผู้เป็นเจ้าของร่วมมีส่วนเท่ากันแต่ผู้เป็นเจ้าของร่วมกันย่อมนำสืบได้ว่า มีส่วนมากน้อยกว่ากันได้ ฉะนั้นผู้มีชื่อในโฉนดร่วมกันย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้แสดงว่าใครมีส่วนเป็นเจ้าของมากน้อยเพียงใดได้
ที่ดินมีชื่อผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิในโฉนดร่วมกัน 2 คน เจ้าของร่วมคนหนึ่งขายส่วนของคนให้แก่ผู้ซื้อ แล้วถูกผู้ซื้อฟ้องศาลจนศาลพิพากษาให้โอนแก่ผู้ซื้อ ในชั้นบังคับคดีผู้เป็นเจ้าของร่วมอีกคนหนึ่งยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลว่าเจ้าของร่วมผู้ขายมีกรรมสิทธิในที่ดินนั้น เพียง 3 ไร่ ไม่ใช่ครึ่งหนึ่ง ศาลได้รับข้อค้านนั้นไว้ดำเนินการพิจารณาต่อไป หลังจากนั้นผู้ซื้อจึงได้รับโอนที่ดินนั้นกึ่งหนึ่ง ดังนี้ ย่อมถือได้ว่ารับโอนไว้โดยรู้อยู่แล้วว่า ผู้ตายมีกรรมสิทธิไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ดังที่มีชื่อในโฉนดเพราะมีข้อพิพาทกันต่อไปแล้วว่า ผู้ขายมีส่วนเป็นเจ้าของเท่าไรแน่ ฉะนั้นจึงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ มีกรรมสิทธิในที่ดินพิพาทเพียง ๓ ไร่แต่กลับไปแสดงว่าตนมีกรรมสิทธิครึ่งหนึ่ง ทำสัญญาขายแก่นายประหยัดจำเลยที่ ๒ ไป เป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิของโจทก์เพราะโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงนี้มาด้วยเงินของโจทก์เอง ที่โจทก์ให้จำเลยที่ ๑ ลงชื่อในโฉนดร่วมกันด้วย ก็โดยโจทก์มีเจตนาให้กรรมสิทธิจำเลยที่ ๑ เพียง ๓ ไร่ จึงขอให้ศาลสั่งแสดงว่าจำเลยที่ ๑ มีกรรมสิทธิเพียง ๓ ไร่ และเรียกค่าเสียหาย ๒๐๐๐ บาท กับโจทก์ได้ยื่นคำร้องให้เรียกนายประหยัด เอี่ยมศิลาเข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่านายประหยัดรับโอนกรรมสิทธิที่ดินแปลงนี้ครึ่งหนึ่งนั้น เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต นายประหยัดจำเลยจะถือเอากรรมสิทธิครึ่งหนึ่งของที่ดินหาได้ไม่ ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อข้อเท็จจริงตามโจทก์ และฟังว่าจำเลยที่ ๒ รับโอนโดยไม่สุจริต จึงพิพากษาว่าจำเลยที่ ๒ มีกรรมสิทธิในที่ดินรายนี้เพียง ๓ ไร่ ๑ งาน ๙๒ ๒/๗ ตารางวา ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทนี้เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์และบุตรอีก ๖ คน รวมทั้งจำเลยที่ ๑ ด้วย โดยโจทก์จัดการเกี่ยวกับที่ดินมรดกนี้เพื่อสงวนไว้ให้แก่บุตรทุก ๆ คน แม้โจทก์จะเอาชื่อจำเลยลงร่วมกับโจทก์ด้วยอันฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของดินด้วยก็ดี ตามมาตรา ๑๓๕๗ ป.ม.แพ่ง ฯ เป็นแต่เพียงความสันนิษฐานของกฎหมายเท่านั้นว่า ผู้เป็นเจ้าของร่วมมีส่วนเท่ากัน แต่ผู้เป็นเจ้าของร่วมกันย่อมนำสืบได้ว่ามีส่วนมากน้อยกว่ากันได้ ที่พิพาทนี้เป็นของโจทก์กับบุตรทั้ง ๖ ยังหาได้แบ่งปันกันไม่ จำเลยที่ ๑ จึงมีส่วนได้เพียง ๓ ไร่เศษเท่านั้น
ส่วนการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ นั้น ปรากฎว่าเมื่อจำเลยที่ ๒ ฟ้องจำเลยที่ ๑ ได้โอนที่พิพาทให้ และศาลได้พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ โอนแก่จำเลยที่ ๒ นั้น ในชั้นบังคับคดี ศาลเรียกโฉนดมาจากโจทก์เพื่อจะจัดการบังคับคดี โจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านไว้แล้วว่า จำเลยที่ ๑ มีกรรมสิทธิด้วยเพียง ๓ ไร่ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ที่โต้เถียงกันนี้ ศาลฎีกาพิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไป หลังจากคู่ความดังคำพิพากษาฎีกาแล้ว โจทก์ก็ฟ้องคดีนี้ขึ้น ภายหลังจำเลยที่ ๒ จึงได้รับโอนที่พิพาทครึ่งหนึ่ง ดังนี้เป็นเครื่องส่อแสดงอยู่ว่า จำเลยที่ ๒ รับโอนไว้โดยรู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ ๑ มีกรรมสิทธิไม่ถึงครึ่งดังมีชื่อในโฉนด เพราะมีข้อพิพาทที่จะต้องพิพาทกันต่อไปว่าจำเลยที่ ๑ มีส่วนเป็นเจ้าของเท่าไรแน่ ฉะนั้นจะฟังว่าจำเลยที่ ๒ รับโอนไว้โดยสุจริตหาได้ไม่
จึงพิพากษายืน