แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยนำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดจาก ช.โดยไม่ได้ลงวันเดือน ปี ที่ออกเช็คไว้ แต่มีพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยยอมให้ช.ลงวัน เดือน ปี ในเช็คพิพาทแล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คได้เองเมื่อต้องการเงินคืน ช.ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช.จึงได้ลงวัน เดือน ปี ในเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ แล้วนำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ถือได้ว่าเป็นการลงวันที่ออกเช็คที่ถูกต้องแท้จริงโดยสุจริตตามข้อตกลง ซึ่งโจทก์ชอบที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและสลักหลังให้รับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาท ซึ่งลงวันที่ 26 มีนาคม 2527 อันเป็นวันตามที่ถูกต้องแท้จริงและเป็นวันกำหนดชำระเงิน ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ลงในเช็คดังกล่าวคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยให้การรับว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาท ทั้งมิได้โต้เถียงว่าธนาคารตามเช็คไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องส่งอ้างเช็คพิพาทเป็นพยานหลักฐานอีก เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยยอมรับแล้ว ดังนั้น แม้เช็คพิพาทจะปิดอากรแสตมป์ไม่ถูกต้อง ก็รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายและสลักหลังเช็คพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ขอให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทจำนวน65,192.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า วันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมิใช่วันที่สั่งจ่ายที่แท้จริง หนี้กู้ยืมขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาประการที่สองมีว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิลงวันที่ในเช็คพิพาทหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยนำเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ ไปแลกเงินสดจากร้อยตรีชนิสสร์โดยไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ที่ออกเช็คไว้ ทั้งได้ความว่า จำเลยกับร้อยตรีชนิสสร์มีความสนิทสนมกันมากย่อมมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันตามพฤติการณ์ดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยยอมให้ร้อยตรีชนิสสร์ลงวัน เดือน ปี ในเช็คพิพาทแต่ละฉบับแล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คได้เองต่อเมื่อร้อยตรีชนิสสร์ต้องการเงินคืน แต่ร้อยตรีชนิสสร์ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของร้อยตรีชนิสสร์จึงได้ลงวัน เดือน ปี ในเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับแล้วนำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินถือได้ว่าเป็นการลงวันที่ออกเช็คที่ถูกต้องแท้จริงโดยสุจริตตามข้อตกลง ซึ่งโจทก์ทั้งสองชอบที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910ประกอบมาตรา 989
ปัญหาประการที่สามมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เห็นว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเงินตามเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับซึ่งจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและสลักหลัง ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า โจทก์ทั้งสองได้ลงวันที่ออกเช็คคือวันที่ 26มีนาคม 2527 อันเป็นวันตามที่ถูกต้องแท้จริง และเป็นวันกำหนดชำระเงินตามเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ เมื่อโจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับในวันที่ 21 มกราคม 2528จึงยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันที่เช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับถึงกำหนด คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ กรณีไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันที่จำเลยกู้เงินจากร้อยตรีชนิสสร์หรือไม่ ดังที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้
ที่จำเลยฎีกาโต้เถียงว่า เช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ ที่โจทก์ส่งอ้างเป็นพยานเอกสารตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.10ปิดอากรแสตมป์เพียง 25 สตางค์ แต่ขณะที่โจทก์ทั้งสองนำเช็คไปเรียกเก็บเงินเมื่อ พ.ศ. 2527 ประมวลรัษฎากรบัญญัติให้ชำระค่าอากรแสตมป์ 3 บาท จึงใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เห็นว่าจำเลยให้การรับว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.9 และเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.10 กับมิได้โต้เถียงว่า ธนาคารตามเช็คไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องส่งอ้างเช็คพิพาทเป็น พยานหลักฐานอีก เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยยอมรับแล้วคดีไม่จำต้องหยิบยกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.10ขึ้นวินิจฉัยโดยตรงอีกฎีกาของจำเลยในปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เฉพาะเรื่องดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์