คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2015/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยนำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดจาก ช. โดยไม่ได้ลงวันเดือน ปี ที่ออกเช็คไว้แต่มีพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยยอมให้ ช. ลงวัน เดือน ปี ในเช็คพิพาทแล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ตามเช็คได้เองเมื่อต้องการเงินคืน ช. ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จึงได้ลงวัน เดือน ปี ในเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ แล้วนำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ถือได้ว่าเป็นการลงวันที่ออกเช็คที่ถูกต้องแท้จริงโดยสุจริตตามข้อตกลง ซึ่งโจทก์ชอบที่จะกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 910ประกอบมาตรา 989.
โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและสลักหลังให้รับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทซึ่งลงวันที่ 26 มีนาคม 2527 อันเป็นวันตามที่ถูกต้องแท้จริง และเป็นวันกำหนดชำระเงินภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ลงในเช็คดังกล่าว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ.
จำเลยให้การรับว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาท ทั้งมิได้โต้เถียงว่า ธนาคาร ตามเช็คไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องส่งอ้างเช็คพิพาทเป็นพยานหลักฐานอีกเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยยอมรับแล้ว ดังนั้น แม้เช็คพิพาทจะปิดอากรแสตมป์ไม่ถูกต้อง ก็รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายและสลักหลังเช็คพิพาท.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของร้อยตรีชนิสสร์ลิ้มน้ำคำ ก่อนที่ร้อยตรีชนิสสร์ถึงแก่ความตายได้เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาเยาวราช จำนวน 9 ฉบับ สั่งจ่ายเงิน52,600 บาท ซึ่งจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย และเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาประตูน้ำ สั่งจ่ายเงิน 6,000 บาทซึ่งจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลัง โดยจำเลยนำเช็คทั้ง 10 ฉบับไปแลกเงินสดจากร้อยตรีชนิสสร์ ต่อมาโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินรวม 58,600 บาทแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงิน 58,600 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้นำเงินสดไปแลกเช็คทั้ง 10 ฉบับคืนจากร้อยตรีชนิสสร์แล้ว แต่ร้อยตรีชนิสสร์ไม่ได้คืนเช็คพิพาทให้จำเลย ร้อยตรีชนิสสร์ครอบครองเช็คพิพาทไว้แทนจำเลย ร้อยตรีชนิสสร์หรือโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะลงวันที่ในเช็คพิพาทจำเลยสั่งจ่ายและสลักหลังเช็คพิพาทเมื่อประมาณ พ.ศ. 2512ถึง พ.ศ. 2513 วันที่สั่งจ่ายที่โจทก์ลงในเช็คพิพาทจึงมิใช่วันที่สั่งจ่ายที่แท้จริงและโจทก์ลงวันที่โดยไม่สุจริต หากฟังว่าจำเลยนำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดจากร้อยตรีชนิสสร์ซึ่งเนื่องจากการกู้ยืมเงินหนี้กู้ยืมก็ขาดอายุความ 10 ปีแล้ว โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีจากจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ เป็นเงิน 65,192.50 บาท ให้โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 58,600 บาท นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินคือวันที่ 26 มีนาคม 2527 ไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้โจทก์ทั้งสองเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาประการแรกมีว่าร้อยตรีชนิสสร์ครอบครองเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ แทนจำเลยหรือไม่จำเลยนำสืบว่าจำเลยสั่งจ่ายและสลักหลังเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับให้ร้อยตรีชนิสสร์นำไปแลกเงินจากบุคคลภายนอกมาเพื่อใช้จ่ายในการเที่ยวเตร่ร่วมกัน เห็นว่านอกจากที่จำเลยจะเบิกความลอย ๆแต่เพียงปากเดียวแล้ว ก็ยังไม่มีเหตุผลให้ควรแก่การรับฟังว่าเป็นความจริง กล่าวคือ จำนวนเงินที่สั่งจ่ายตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 สั่งจ่ายเงินฉบับละ 20,000 บาท เอกสารหมาย จ.10สั่งจ่ายเงิน 6,000 บาท เอกสารหมาย จ.4 สั่งจ่ายเงิน 5,000 บาทเอกสารหมาย จ.7 สั่งจ่ายเงิน 3,000 บาท เอกสารหมาย จ.5 สั่งจ่ายเงิน 2,000 บาท และเอกสารหมาย จ.9 สั่งจ่ายเงิน 1,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากเกินกว่าที่จะนำไปใช้จ่ายในการเที่ยวเตร่ ในขณะที่จำเลยเบิกความเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2528 จำเลยมีอายุ55 ปี ถ้านับย้อนหลังไปถึงวันที่ที่จำเลยออกและสลักหลังเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ เมื่อ พ.ศ. 2512 ตามที่จำเลยเบิกความแล้ว จำเลยก็มีอายุประมาณ 39 ปี นับได้ว่าเป็นผู้ใหญ่มากแล้ว ไม่ใช่คนในวัยเริ่มหนุ่มที่คิดแต่จะเที่ยวเตร่โดยไม่คำนึงถึงความสิ้นเปลืองที่คิดเป็นเงินเฉพาะจำเลยเพียงคนเดียวถึง 50,000 บาทเศษ ในชั่วระยะเวลาเพียง 1 ถึง 2 ปี เมื่อเทียบค่าของเงินในปี พ.ศ. 2512หรือ พ.ศ. 2513 ในขณะนั้นอีกประการหนึ่งตามสมุดต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยส่งอ้างเป็นพยาน ซึ่งเป็นสมุดต้นขั้วของเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.9 ยังบันทึกการสั่งจ่ายเช็คฉบับอื่นจากสมุดเช็คเล่มเดียวกันนี้ว่าสั่งจ่ายในการทำพิธีปลูกบ้านจ่ายให้ช่าง จ่ายค่าบ้านงวดสุดท้าย ซึ่งเป็นการเจือสมคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ว่า จำเลยนำเช็คมาแลกเงินสดจากร้อยตรีชนิสสร์เพื่อนำไปสร้างบ้านที่จำเลยอยู่ในปัจจุบันนี้ ทั้งตามสมุดต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.1 ดังกล่าว ก็ยังบันทึกในการจ่ายเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.9 ไว้ว่า “หมอชนิสสร์” “หมอ””Dr.” “Doctor” ซึ่งจำเลยก็เบิกความว่า จำเลยเรียกร้อยตรีชนิสสร์ว่า “หมอ” แสดงให้เห็นถึงการออกเช็คพิพาทว่าออกให้แก่ร้อยตรีชนิสสร์โดยตรง จากพยานหลักฐานของจำเลยนี้เองก็เชื่อได้แล้วว่าจำเลยสั่งจ่ายและสลักหลังเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ นำไปแลกเงินสดจากร้อยตรีชนิสสร์เพื่อนำไปใช้จ่ายในการสร้างบ้านของจำเลยหาใช่เพื่อให้ร้อยตรีชนิสสร์นำไปแลกเงินจากบุคคลอื่นนำไปใช้จ่ายในการเที่ยวเตร่ดังที่จำเลยต่อสู้ไม่ ข้อที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยได้ชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับให้แก่ร้อยตรีชนิสสร์แล้วหรือไม่ ได้ความว่าจำเลยกับร้อยตรีชนิสสร์สนิทสนมกันมาก เช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ เป็นเช็คที่จำเลยนำไปแลกเงินสดจากร้อยตรีชนิสสร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 ถึง พ.ศ. 2513จึงเห็นว่า ถ้าจำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาทให้แก่ร้อยตรีชนิสสร์จนเสร็จสิ้นแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอย่างใดที่ร้อยตรีชนิสสร์จะเก็บเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับนี้ต่อมาอีกจนกระทั่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2525 อันเป็นระยะเวลา 12 ถึง 13 ปี เหตุที่ร้อยตรีชนิสสร์ยังคงเก็บเช็คพิพาทไว้ก็ต้องเนื่องมาจากจำเลยยังไม่ได้ชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ร้อยตรีชนิสสร์นั่นเอง
ปัญหาประการที่สองมีว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิลงวันที่ในเช็คพิพาทหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยนำเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ ไปแลกเงินสดจากร้อยตรีชนิสสร์ โดยไม่ได้ลงวันเดือน ปี ที่ออกเช็คไว้ ทั้งได้ความว่า จำเลยกับร้อยตรีชนิสสร์มีความสนิทสนมกันมาก ย่อมมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยยอมให้ร้อยตรีชนิสสร์ลงวันเดือน ปี ในเช็คพิพาทแต่ละฉบับแล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คได้เอง ต่อเมื่อร้อยตรีชนิสสร์ต้องการเงินคืน แต่ร้อยตรีชนิสสร์ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของร้อยตรีชนิสสร์จึงได้ลงวันเดือน ปี ในเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ แล้วนำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ถือได้ว่าเป็นการลงวันที่ออกเช็คที่ถูกต้องแท้จริงโดยสุจริตตามข้อตกลง ซึ่งโจทก์ทั้งสองชอบที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 ประกอบมาตรา 989
ปัญหาประการที่สามมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเงินตามเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับซึ่งจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและสลักหลัง ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์ทั้งสองได้ลงวันที่ออกเช็คคือวันที่ 26มีนาคม 2527 อันเป็นวันตามที่ถูกต้องแท้จริง และเป็นวันกำหนดชำระเงินตามเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ เมื่อโจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ ในวันที่ 21 มกราคม 2528จึงยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันที่เช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับถึงกำหนด คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ กรณีไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันที่จำเลยกู้เงินจากร้อยตรีชนิสสร์หรือไม่ ดังที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้
ที่จำเลยฎีกาโต้เถียงว่า เช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับที่โจทก์ส่งอ้างเป็นพยานเอกสารตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.10 ปิดอากรแสตมป์เพียง 25 สตางค์ แต่ขณะที่โจทก์ทั้งสองนำเช็คไปเรียกเก็บเงินเมื่อ พ.ศ. 2527 ประมวลรัษฎากรบัญญัติให้ชำระค่าอากรแสตมป์3 บาท จึงใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เห็นว่า จำเลยให้การรับว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทตามเอกสารหมายจ.1 ถึง จ.9 และเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.10กับมิได้โต้เถียงว่า ธนาคารตามเช็คไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินฉะนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องส่งอ้างเช็คพิพาทเป็นพยานหลักฐานอีก เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยยอมรับแล้ว คดีไม่จำต้องหยิบยกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.10 ขึ้นวินิจฉัยโดยตรงอีกฎีกาของจำเลยในปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้ายมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแต่พิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ เป็นเงิน65,192.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน58,600 บาท นับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2527 ไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จจึงเป็นการไม่ถูกต้อง เห็นว่า จำนวนเงินตามเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ รวมกันแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 58,600 บาทและโจทก์ทั้งสองขอคิดดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันที่ 28 มีนาคม2527 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ทั้งสองเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีไม่ใช่ร้อยละสิบห้าต่อปีตามที่โจทก์ทั้งสองขอ ก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน58,600 บาท นับแต่วันที่ 28 มีนาคม 2527 ไปจนกว่าจำเลยชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น ฎีกาจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 58,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 28 มีนาคม 2527 ไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share