คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2013/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์คิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้การเล่นแชร์อัตราร้อยละ 18 ต่อปีได้ ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ. 2475 เพราะไม่ใช่มูลหนี้การกู้ยืมเงินตามความหมายของกฎหมายดังกล่าว อายุความฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม(มาตรา 193/30 ใหม่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2521จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและในฐานะส่วนตัวกับจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นลูกหนี้โจทก์ โดยจะขอผ่อนชำระให้โจทก์เป็นงวด จำเลยเคยผ่อนชำระให้โจทก์ตามสัญญาเป็นบางส่วนแล้วไม่ชำระวันที่ 19ธันวาคม 2523 จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ว่ายังคงเป็นหนี้โจทก์ คิดค่าผลประโยชน์ให้โจทก์เป็นค่าเสียหายอีกจำนวนหนึ่งโดยจะชำระให้ภายในเดือนมกราคม 2524 เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วจำเลยทั้งสามก็ยังผ่อนชำระเงินให้โจทก์ไม่ครบตามสัญญาคงค้างชำระเป็นเงิน 164,024.82 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
จำเลยทั้งสามให้การร่วมกันว่า จำเลยทั้งสามได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้จริง หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2523 จำเลยที่ 3ได้คิดบัญชีหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามแล้ว ได้ทำบันทึกกันไว้จริง จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์ คงค้างชำระหนี้โจทก์อยู่เพียง 130,239 บาท เท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยเพราะโจทก์ได้เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรือร้อยละ 1.5 ต่อเดือนตลอดมาซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด และขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติตามหนังสือรับสภาพหนี้และผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 164,024.82บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์จัดให้มีการเล่นแชร์โดยมีจำเลยที่ 1 ร่วมเล่นด้วย จำเลยที่ 1สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าแชร์เมื่อเช็คถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2521 จำเลยทั้งสามทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์เป็นเงินจำนวน 258,225 บาทตามเอกสารหมาย จ.3 และได้ผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2523 จำเลยที่ 3 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ส่วนที่เหลือคิดคำนวณหนี้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2523 เป็นเงินจำนวน 187,699 บาท โดยคิดค่าผลประโยชน์ให้โจทก์อีกเป็นเงิน 33,785.82 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว จำเลยผ่อนชำระหนี้โจทก์เรื่อยมาจนถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2525 จำเลยยังเป็นหนี้โจทก์จำนวน 164,024.82 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีรวมอยู่ในมูลหนี้เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 และมูลหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า มูลหนี้ตามฟ้องโจทก์ไม่ใช่มูลหนี้การกู้ยืมเงินตามความหมายของพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯกรณีของโจทก์จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า สัญญารับสภาพหนี้ต้องถือมูลหนี้ตามเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี คดีจึงขาดอายุความนั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มูลหนี้เดิมเกิดจากจำเลยที่ 1ร่วมเล่นแชร์กับโจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระหนี้ค่าแชร์ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ถือว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ค่าแชร์ การชำระหนี้ด้วยเช็คเช่นนี้ไม่ใช่การแปลงหนี้ใหม่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงอาศัยมูลหนี้เดิมตามสัญญาการเล่นแชร์ หาได้ฟ้องให้รับผิดตามเช็คไม่อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ใหม่) เมื่อนับตั้งแต่วันที่ 26พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสามชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ครั้งสุดท้าย และเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2530 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ…”
พิพากษายืน

Share