คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2012/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ 3 งาน 52 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้าน 2 ชั้น 1 หลัง ที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืนเนื้อที่ 102 ตารางวา และสิ่งปลูกสร้าง 1 ใน 3 อยู่ในเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืน จำเลยขอให้โจทก์เวนคืนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือ อ้างว่าใช้การไม่ได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 19 วรรคหนึ่ง คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลัง โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายและค่าทดแทนทรัพย์สินที่จะต้องเวนคืนฯ โดยจำเลยยอมรับเงินค่าทดแทนที่ดินและค่าทดแทนสำหรับการรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างทั้งหลัง ซึ่งสัญญากำหนดให้จำเลยต้องรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ลงนามในสัญญา ต่อมาจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนแต่หาได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือไม่ อ้างว่ารัฐไม่มีความจำเป็นต้องใช้สิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือซึ่งอยู่นอกเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืน ดังนี้ หากแปลความกฎหมายดังกล่าวตามที่จำเลยอ้าง ย่อมจะไม่เป็นธรรมแก่สังคมและเป็นช่องทางให้เจ้าของที่ดินหลีกเลี่ยงบทบังคับแห่งกฎหมาย ทั้งที่ตนเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์จากบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการแปลความที่ไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึกและความเป็นธรรม เมื่อจำเลยไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือออกไปตามกำหนด จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญาและถือว่าได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือออกไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งได้ถูกเวนคืนบางส่วนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยในส่วนที่ดินที่ถูกเวนคืน ซึ่งรวมทั้งส่วนที่เหลืออยู่นอกเขตเวนคืนซึ่งใช้การไม่ได้ตามที่จำเลยขอให้เวนคืนด้วย จำเลยทำสัญญาซื้อขายและค่าทดแทนทรัพย์สินที่จะถูกเวนคืนฯ กับโจทก์โดยยินยอมรับเงินค่าทดแทนและตกลงรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ลงนามในสัญญา จำเลยได้รับเงินค่าทดแทนไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปเฉพาะในส่วนที่อยู่ในเขตเวนคืน ส่วนที่เหลือซึ่งอยู่นอกเขตเวนคืนจำเลยไม่ยอมรื้อถอนออกไป อันเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการรื้อถอนแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือออกไปตามสัญญา
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง คือบ้านพิพาทในส่วนที่ถูกเวนคืนตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว จำเลยจึงไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา การที่โจทก์คิดค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้ทั้งหลังมิใช่การเวนคืนสิ่งปลูกสร้างทั้งหลัง บ้านส่วนที่เหลือตั้งอยู่ในที่ดินส่วนที่ไม่ได้ถูกเวนคืน จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนที่จำเลยจะต้องรื้อถอนขนย้าย แม้ตามหนังสือที่จำเลยร้องขอให้โจทก์พิจารณาจ่ายค่าทดแทนบ้านส่วนที่เหลือจะมีข้อความเป็นการแสดงเจตนาให้โจทก์เวนคืนสิ่งปลูกสร้างบ้านส่วนที่เหลือตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 19 ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ได้บัญญัติให้ผู้ถูกเวนคืนต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในส่วนที่เหลือซึ่งอยู่นอกเขตเวนคืนด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทของจำเลยส่วนที่เหลือ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 38069 ตำบลบางเขนฝั่งใต้ อำเภอดุสิต (บางชื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 3 งาน 52 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 1003/2 ซอยสายสิน ถนนประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ที่ดินดังกล่าวจำนวน 102 ตารางวา และบ้านเลขที่ 1003/2 จำนวน 1 ใน 3 อยู่ในบริเวณที่ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนด เขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยร้องขอให้โจทก์เวนคืนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 19 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลังตามประกาศคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ และบัญชีกำหนดราคาเบื้องต้นอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนฯ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2532 จำเลยทำสัญญาซื้อขายและค่าทดแทนทรัพย์สินที่จะถูกเวนคืนฯ กับโจทก์ โดยตกลงยินยอมรับเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนด ต่อมาจำเลยได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มตามที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเพิ่มให้สำหรับค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างรวมจำนวน 3,044,946.46 บาท จำเลยได้รับเงินค่าทดแทนไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่ได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปเฉพาะในส่วนที่อยู่ในเขตเวนคืน ส่วนที่เหลือจำเลยไม่ยอมรื้อถอนออกไป โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือแล้ว แต่จำเลยมิได้ดำเนินการรื้อถอน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยเป็นผู้ผิดสัญญาและจะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือซึ่งอยู่นอกเขตเวนคืนหรือไม่ จำเลยฎีกาโดยสรุปว่า จำเลยจะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตเวนคืนเท่านั้น สิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือซึ่งอยู่นอกเขตเวนคืนนั้นจำเลยไม่ต้องทำการรื้อถอน การที่จำเลยไม่ได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือซึ่งอยู่นอกเขตเวนคืนไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยจึงมิได้เป็นผู้ผิดสัญญา เห็นว่า มูลเหตุของการเวนคืนสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ 1003/2 ของจำเลยทั้งหลังนั้นสืบเนื่องมาจากจำเลยได้ยื่นคำขอต่อโจทก์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 ตามเอกสารหมาย จ.5 ขอให้โจทก์เวนคืนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลืออยู่ซึ่งใช้การไม่ได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์ได้ดำเนินการตามคำขอของจำเลยและจ่ายเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยทั้งหลังตามความประสงค์ของจำเลยแล้ว โดยโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายและค่าทดแทนทรัพย์สินที่จะถูกเวนคืนฯ กันไว้ตามเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งมีข้อความระบุไว้ชันเจนว่า จำเลยตกลงขายที่ดินที่จะถูกเวนคืนตามสัญญานี้ให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ตกลงจ่ายและจำเลยตกลงรับค่าทดแทนตามราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดสำหรับที่ดินตามโฉนดเลขที่ 38069 ตำบลบางเขนฝั่งใต้ อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และค่าทดแทนสำหรับการรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 1003/2 ทั้งหลังซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว โดยในสัญญาข้อ 2 วรรคท้าย ระบุให้สิ่งปลูกสร้าง ไม้ยืนต้น หรือสิ่งของอื่นฯ ที่รื้อถอนแล้วเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน แสดงให้เห็นว่า การเวนคืนสิ่งปลูกสร้างนั้นโจทก์เวนคืนในลักษณะที่ให้เจ้าของทรัพย์สินต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2532 ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 5 กำหนดให้จำเลยต้องรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ลงนามในสัญญา ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 18 มีนาคม 2533 แต่จำเลยหาได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือออกไปตามกำหนดดังกล่าวไม่ จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญาและถือว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือออกไปได้ ที่จำเลยฎีกาว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 19 มีเจตนารมณ์ที่จะให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนที่อยู่ภายในเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืน ซึ่งรัฐมีความจำเป็นต้องสร้างทางพิเศษนั้น เห็นว่า เจตนารมณ์ในการตรากฎหมายฉบับดังกล่าวก็เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการเวนคืนและให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม สำหรับการเวนคืนสิ่งปลูกสร้างเพียงบางส่วน หากมีผลทำให้สิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลืออยู่ใช้การไม่ได้ และไม่ยอมให้ผู้ถูกเวนคืนร้องขอให้เวนคืนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือด้วย ย่อมจะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับความเสียหายเกินสมควรซึ่งไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืน แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ได้เวนคืนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือซึ่งใช้การไม่ได้ตามคำขอของผู้ถูกเวนคืนตามที่กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ถูกเวนคืนที่จะร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ได้ และได้จ่ายเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างทั้งหลังให้แก่ผู้ถูกเวนคืนไปแล้วยังยอมให้ผู้ถูกเวนคืนรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนเท่านั้น ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่เหลือซึ่งอยู่นอกเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืน ผู้ถูกเวนคืนไม่ต้องรื้อถอนออกไปดังที่จำเลยฎีกาแล้ว ก็ย่อมจะไม่เป็นธรรมแก่สังคมเช่นเดียวกัน หากจะให้แปลความบทกฎหมายดังกล่าวไปตามที่จำเลยฎีกาแล้ว จะเป็นช่องทางให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนหลีกเลี่ยงบทบังคับแห่งกฎหมายได้ทั้งๆ ที่ตนเป็นฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากบทกฎหมายดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งเป็นการแปลความที่ไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึกและความเป็นธรรม ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันว่า จำเลยต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share