คำสั่งคำร้องที่ 1729/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลย เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งจึงไม่รับ
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จำเลยรับทราบ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาจำเลยในวันที่ 7 กรกฎาคม 2537 คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงยังไม่ล่วงเลยกำหนดเวลาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 โปรดมีคำสั่ง ให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไปด้วย
หมายเหตุ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานรับของโจรตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ข้อหาฐานลักทรัพย์ให้ยก
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 38)
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลชั้นต้น มีคำสั่งว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาล่วงเลยกำหนดเวลา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 ให้ส่งอุทธรณ์ คำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยให้ศาลฎีกาเพื่อพิจารณา (อันดับ 40)
ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2537 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้ส่งศาลฎีกาพิจารณา (อันดับ 41)

คำสั่ง
จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2537 และตามแบบพิมพ์ท้ายฎีกามีข้อความว่า “รอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่า ทราบแล้ว”ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยในวันนั้นเอง ต้องถือว่าจำเลยทราบคำสั่งในวันนั้น แม้จำเลยจะมารับทราบ คำสั่ง ของศาลชั้นต้นดังกล่าวภายหลังในวันที่ 7 กรกฎาคม 2537 ก็หาเป็นเหตุให้ระยะเวลาในการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ขยายไปไม่ จำเลยเพิ่งยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2537 พ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟัง คำสั่งตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 234 จึงต้องห้าม ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย

Share