คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 201/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทที่เป็นของโจทก์ด้านทิศตะวันตกซึ่งจำเลยอ้างว่าจำเลยได้ครอบครองปรปักษ์มีเฉพาะจากหลักหมุดที่ 1 มาถึงหลักหมุดที่ 4 ด้านทิศตะวันออกนั้น ศาลอุทธรณ์ไปรับฟังเอาจากรายงานกระบวนพิจารณาการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้นลงวันที่ 24 สิงหาคม 2531 ซึ่งเป็นการรับฟังที่ผิดไปจากรายงานกระบวนพิจารณา เพราะรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวมิได้มีข้อความดังที่ศาลอุทธรณ์รับฟัง การรับฟังพยานของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย แม้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท โจทก์ก็ฎีกาได้ และศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงในประเด็นว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือของจำเลย และประเด็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใดอันเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องมาจากประเด็นแรกเสียใหม่โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีกเพราะคู่ความได้นำสืบมาสิ้นกระแสความแล้ว ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 243 ประกอบมาตรา 247
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่มีโฉนดที่ดินมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าซึ่งออกก่อนที่บิดามารดาจำเลยจะเข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยอ้างว่าจำเลยสืบสิทธิการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทต่อมาจากบิดามารดาจำเลยจนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จำเลยมีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ความแน่ชัดว่าบิดามารดาจำเลยและจำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี แต่พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าบิดามารดาจำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยมิได้อาศัยสิทธิของเจ้าของที่ดินพิพาท แม้ครอบครองที่ดินพิพาทมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382และแม้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากบิดามารดาจำเลยก็หาทำให้จำเลยมีสิทธิเหนือกว่าบิดามารดาจำเลยไม่ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

Share