คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 201/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า ‘ยา’ ตามพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ.2493มาตรา4 นั้น หาได้อยู่ที่ว่าวัตถุนั้นจะบำบัดรักษาหรือป้องกันโรคได้จริงหรือไม่ แต่อยู่ที่ความมุ่งหมายในการใช้ฉะนั้น กำไลแหวน และสร้อย ซึ่งมุ่งหมายจะใช้เพื่อบำบัดรักษาและป้องกันโรคจึงเป็นยาตามความหมายแห่งกฎหมายดังกล่าวและเมื่อผู้ใดโฆษณาหรือขายวัตถุเหล่านี้โดยมิได้รับอนุญาตก็ย่อมมีความผิด(ประชุมใหญ่ ครั้งที่42/2504)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันประกอบธุรกิจการขายยาโดยนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายและมีไว้เพื่อขายซึ่งวัตถุที่จำเลยให้ชื่อว่ากำไลวิทยาศาสตร์ รวมทั้งวัตถุเป็นรูปแหวนและสร้อย และจำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาว่ากำไลวิทยาศาสตร์เป็นวัตถุที่ใช้ในการพิเคราะห์บำบัดบรรเทารักษาหรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยของมนุษย์ได้ ทั้งนี้ โดยมิได้รับอนุญาตให้ขายยา ทั้งยังบังอาจฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มิให้โฆษณาด้วย ขอให้ลงโทษ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยไม่ผิดในข้อขายยา แต่ผิดในการแจ้งความขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493 มาตรา 20, 39 พระราชบัญญัติการขายยา (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2498 มาตรา 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษปรับจำเลยคนละ 500 บาท ของกลางไม่ริบ

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า มาตรา 4(2) แห่งพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493 ได้บัญญัติวิเคราะห์ศัพท์คำว่า ยา ไว้ การที่จะวินิจฉัยว่าเป็นยาตามความหมายแห่งบทบัญญัตินั้น ข้อสำคัญหาได้อยู่ที่ว่า วัตถุนั้นจะบำบัดรักษาหรือป้องกันโรคได้จริงหรือไม่ แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ความมุ่งหมายในการใช้วัตถุนั้นต่างหาก ความมุ่งหมายในการใช้วัตถุของกลางนี้ย่อมแสดงชัดอยู่แล้วว่า มุ่งหมายจะให้ใช้วัตถุนี้บำบัดรักษาและป้องกันโรคของมนุษย์ ที่ประชุมใหญ่จึงมีความเห็นว่า วัตถุของกลางนี้เป็นยาตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493 มาตรา 4(2) เมื่อฟังได้ว่าวัตถุของกลางนี้เป็นยาตามความหมายแห่งพระราชบัญญัตินี้แล้ว จำเลยมีวัตถุเหล่านี้ไว้เพื่อจำหน่าย จำเลยจึงต้องมีความผิดตามมาตรา 7 ประกอบด้วยมาตรา4 วรรคสุดท้าย อันจะต้องลงโทษตามมาตรา 28 กับมีความผิดฐานแจ้งความขายยาตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493 อันจะต้องลงโทษตามมาตรา 39 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขายยา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2498 มาตรา 14 ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 39 อันเป็นกระทงที่หนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83

พิพากษากลับ ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสอง คนละ 500 บาทของกลางไม่ริบ

Share